ความเป็นมาของฮวงจุ้ยบ้านอยู่อาศัย

ว่ากันว่าวิชาฮวงจุ้ยบ้านอยู่อาศัยของผู้คนนั้นมันค่อยๆ แยกตัวจากฮวงจุ้ยสุสานในสมัยราชวงศ์ชิง ตั้งแต่ยุคจักรพรรดิ์คังซี-เฉียนหลง เป็นต้นมา มีการนำแนวคิดเรื่องมังกรน้ำของหยางกงเป็นรากฐาน (‘หยางกง’ คือ บูรพาจารย์ฮวงจุ้ยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จีน)

หลักเล้งซัวเหี่ยงจุ้ย คือวิชาฮวงจุ้ยชั้นสูงที่ว่าด้วยภาคชัยภูมิภายนอกโดยรอบพื้นที่ของที่อยู่อาศัย โดยหลักนี้จะดูองค์ประกอยที่เป็นการเพิ่มตำแหน่ง ขับดันที่ถูกต้อง และดีที่สุด (เล้ง=มังกร) รวมทั้งให้ความสำคัญว่าต้องมีพื้นที่รองรับโชคลาภ มีกำไรมาก (จุ้ย=น้ำ) หรือพูดให้เห็นภาพคือ ดูฮวงจุ้ยความสัมพันธ์ระหว่างมังกร-ภูเขา-ทิศหน้าบ้าน-ปากแม่น้ำ ที่เปิดรับพลังชี่ให้เข้ามาสัมพันธ์กับทิศดาวเหนือทั้ง 9 ที่เป็นชี่ในลักษณ์

.

แต่เดิมซินแสสายวิศวกร ซึ่งมักมีความรู้ด้านสถาปนิก และการแพทย์อยู่ด้วยกัน จะใช้ศาสตร์ฮวงจุ้ยที่เน้นไปที่รูปลักษณ์ของผืนดินที่เป็นลักษณะภูเขา มีทางน้ำ และดูจุดรับพลังที่รับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า ต่อมาซินแสสายนักบวชเต๋า หรือซินแสสายวิศวกรที่ไปเรียนรู้วิชาเต๋า ก็ได้มีการนำวิชาพยากรณ์เรื่องการย้ายกว้า  (“กว้า” 卦คือ สัญลักษณ์ ที่เป็นเส้นขีดๆ โดยทั่วไปจะมี 3 เส้น เส้นที่อยู่ใน กว้า เราจะเรียกว่า เหยา (爻, yáo) ดังนั้นกว้าโดยปกติจะมี 3 เหยา ซึ่งเหยานี้สามารถเป็นได้ทั้งเส้นเต็ม และเส้นขาด และซินแสจะใช้เส้นเต็มเป็นตัวแทนของหยาง เส้นขาดเป็นตัวแทนของหยิน และด้วยการที่มี 3 เส้น ทำให้มันสามารถมีได้ 8 รูปแบบ เราจึงนิยมเรียกกว้า 3 เส้นนี้ว่า ปากว้า (八卦) หรือ 8 กว้า [八แปลว่า 8] หรือที่คนไทยจะอ่านสำเนียงออกเป็นคำว่า ‘ปากัว’)

เพราะซินแสสายวิศวกรที่ไปเรียนรู้วิชาเต๋าใช้ กว้า เพื่อหาจุดและเวลารับพลังชี่เข้ามาปรับใช้กับวิชาฮวงจุ้ย จึงทำให้ฮวงจุ้ยเริ่มมีการพัฒนาองค์ความรู้ที่เป็นเอกลักษณ์มากขึ้น เพราะมีการปรับตัวจากความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ที่บอกว่าพลังชี่รับรู้ได้เฉพาะตน หรือเชื่อถือในภูมิผีปีศาจเทพที่ก่อเกิดพลังดีร้ายให้มีความเป็นวิทยาศาสตร์แต่ยังคงแบบจีนโบราณไว้ โดยใช้วิชาพยากรณ์ประกอบทั้งก่อน และหลังการจัดฮวงจุ้ยเพื่อยืนยันจุดรับพลังงาน และในต่อมาก็ได้ใส่วิชาพยากรณ์ให้การจัดฮวงจุ้ยบ้านนั้นดูมีวัตถุประสงค์ชัดเจนมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ทั้งด้าน ความร่ำรวย ยศศักดิ์ สุขภาพ ลูกหลานสืบสกุล หรือเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะบุคคลที่ต่างกันออกไป

.

เมื่อมาถึงช่วงปลายราชวงศ์ชิงจนถึงยุคสาธารณรัฐ ศาสตร์การศึกษาฮวงจุ้ยก็เริ่มก่อตัวขึ้นเป็นแนวทางสำนักใหม่ที่เรียกว่าซานหยวน (三元 หรือสามยุค) และมีการนำงานเขียนบันทึกที่อิงกับปรมาจารย์ฮวงจุ้ยตั้งแต่สมัยถัง-ซ่ง ให้กลับมาได้ความนิยม และมีการตีความใหม่ โดยเฉพาะงานเขียนของเจี่ยงต้าหง (蒋大鸿) ซินแสสมัยปลายราชวงศ์หมิงต้นราชวงศ์ชิง ที่เป็นซินแสสายรูปลักษณ์คนสำคัญที่มีโอกาสได้ศึกษาวิชามังกรน้ำ และวิชาพยากรณ์ลัทธิเต๋า โดยเฉพาะเรื่องดาวเหนือทั้งเก้า และสามวัฏจักร ที่ต่อมาเรียกกันว่าแนวทางเสวียนคง (玄空) ที่มาจากคำว่าลึกลับ+ว่างเปล่า เข้ามาผสมผสานกับวิชาฮวงจุ้ยรูปลักษณ์ ซึ่งปัจจุบันที่พอเห็นมีการเรียนการสอน เป็นศาสตร์ที่มีตำรับตำราอย่างเป็นรูปธรรม เช่น

  • สายดาวเหิร หรือเสวียนคงเฟยซิง (玄空飞星) ทั้งที่เป็นวิชาสายสกุลเสิ่นที่เผยแพร่มาตั้งแต่ราวปีค.ศ.1930 และของท่านหลี่เหยายังคงสอนอยู่ในปัจจุบัน ท่านเรียนมาจากท่านถันหยางอู๋ ที่เป็นสายตรงสืบถอยกลับไปได้ถึงปรมาจารย์จางจ้งซานผู้ก่อตั้งและเผยแพร่วิชานี้
  • สายดาวเหิรหกหลักการ หรือเสวียนคงลิ่วฝา (玄空六法) เผยแพร่โดยนักบวชเต๋าท่านหลี่เฉียนชื้อ ต่อมาได้ถ่ายทอดให้ท่านถันหยางอู๋ จนกระทั่งปีค.ศ 1939 ท่านถังหยางอู๋ได้ประกาศว่าวิชาดาวเหิรหกหลักการนั้นเป็นของแท้ วิชานี้คล้ายคลึงกับวิชาดาวเหิร คือให้ดาวห้าเหลือง หรือเนียมเจ็ง (廉贞) เหิรออกนอกช่องกลางได้ แต่ดาวนี้กลับให้คุณประโยชน์ใหญ่หลวง ไม่ได้เป็นภัยร้ายแรงแบบวิชาดาวเหิร เพียงแต่ต้องกำหนดทิศทางดาวห้าเหลืองให้สัมพันธ์กับยุคบน-ล่าง (เจี่ยซิ้ง-หลั่งซิ้ง) และหลักเล้งซัวเหี่ยงจุ้ย คืออิงกับชัยภูมิที่ปรากฏ นอกจากนี้ยังแบ่งยุค  โดยใช้กว้าหยินหยางมาคำนวณ กลายเป็น 2 วัฏจักรบน-ล่าง ซึ่งยุค 9 จะอยู่ช่วงปีค.ศ. 2017-2043 ต่างกับวิชาดาวเหิรที่แบ่งเป็น 3 วัฏจักรบน-กลาง-ล่าง ซึ่งยุค 9 อยู่ในช่วงปีค.ศ. 2024-2043
  • สายหกสิบสี่กว้า หรือเสวียนคงต้ากว้า ( 玄空大卦) บ้านเรามักเรียกว่าสายซำง้วน (ที่จริงการใช้ดวงชะตาบุคคลกับยุค ควรถือเป็นสายซำง้วนทั้งหมด) ที่เผยแพร่โดยปรมาจารย์จางซินเหยียน ที่อ้างตามตำราของท่านเจี่ยงต้าหง ว่าดาวห้าเหลืองไม่เหิรออกจากตรงกลาง จึงใช้กว้า (ข่วย) ที่ไม่มีดาวห้าแทนผังดาวเหิร และใช้ผังก่อนฟ้า หรือเซียนเทียนปากว้า (先天八卦) มาผสมกับตัวเลขตามหลอซู และตั้งชื่อว่าผังกลางฟ้า หรือจงเทียนปากว้า (中天八卦 ) มาใช้จัดเรียงและกระจายกว้าเป็น​ 64 ส่วนของวงกลมบนจานเข็มทิศ

.

สายหกสิบสี่กว้ามีการตั้งชื่อ และให้ความหมายแต่ละกว้าตามตำราพื้นบ้านวิชาการคำนวณดอกเหมย หรือไหมฮวาอี้ซู่ (梅花易数)ที่แต่งโดย เส้าคังเจี๋ย (梅花易数) ซินแส และนักพยากรณ์เลื่องชื่อสมัยราชวงศ์ซ่ง ซึ่งสำนักนี้ยังยึดหลักเล้งซัวเหี่ยงจุ้ย แต่ตีความผ่อนปรนลง​ ให้เล้ง-จุ้ย หรือมังกรภูเขา-ปากน้ำ (ลักษณ์ในชี่) สามารถมีสัมพันธ์แบบภาคีชุดพลังเดียวกัน​ (เหอถูและฮะ5-10-15) กับซัว-เหี่ยง หรือทิศหลังอิง-หน้าหัน (ชี่ในลักษณ์) ได้ ทำให้สามารถเลือกทำเลเปิดรับพลังชี่ได้ง่ายขึ้น ไม่เคร่งครัดเหมือนตำราหยางกงแต่เดิม ที่กำหนดตำแหน่งลักษณ์ในชี่และชี่ในลักษณ์ต้องตรงกัน เพื่อให้ทั้งคู่เกิดการถ่ายพลังกันได้ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ยากมากสำหรับการจะหาชัยภูมิที่อยู่อาศัยให้ได้ตามหลักแบบเป๊ะๆ จึงนับเป็นข้อดีที่ทำให้วิชาฮวงจุ้ยบ้านมีการปรับยืดหยุ่นเพื่อจะพัฒนาต่อยอดไปได้

เพราะมีการวิวัฒนาการในศาสตร์นี้ ทำให้หลังจากนั้นมาในวงการฮวงจุ้ยทางฝั่งซินแสพื้นบ้านก็มีการนำหลักการดูรูปลักษณ์แบบซานเหอมาปรับใช้กับการดูบ้านที่อยู่อาศัย โดยนำมาผสมผสาน และกลายเป็นรากฐานให้กับวิชาฮวงจุ้ยทุกสำนัก ภาพรวมฮวงจุ้ยของคนจีนจึงมีความเป็นมาในลักษณะวัฒนธรรมมากกว่าจะเป็นวิชาเฉพาะ และศาสตร์วิชาฮวงจุ้ยภาษาไทยในท้องตลาดมากกว่า 90% ก็จะว่าด้วยหลักวิธีดูรูปลักษณ์ซึ่งมีทั้งที่คัดลอกมาแต่ดั้งเดิม รวมถึงปรับปรุง คิดค้น เปลี่ยนแปลงตามองค์ความรู้ และประสบการณ์ของผู้เขียนหนังสือตามแต่ละยุคสมัย เทียบเคียงได้กับตำราพรหมชาติแบบบ้านเรา ที่อ้างกันไปมาจนไม่รู้ผู้แต่งที่แท้จริง เลยใช้ชื่อพรหมชาติตามความเชื่อดั้งเดิมว่าองค์ความรู้นี้ได้มาจากพระพรหม

.

อ่านความเป็นมาของฮวงจุ้ยบ้านอยู่อาศัยมาถึงตรงนี้ เชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วสำหรับผู้ศึกษาใหม่ หรือผู้มีความตั้งใจจะเปิดรับศาสตร์ฮวงจุ้ยมาใช้ปรับกับที่อยู่อาศัยคงไม่ต้องไปหาว่าสายไหนวิชาไหนดีสุดแม่นสุด และทางที่ดีที่สุดที่จะทำให้บ้านเรามีฮวงจุ้ยที่ดีได้ คือนอกจากเราจะใช้วิจารณญาณในการปรับแต่ง เสริม สร้างองค์ประกอบสภาพแวดล้อมของบ้านตามความเหมาะสมจากหลักฮวงจุ้ยที่ศึกษา หรือที่ได้รับคำแนะนำมาแล้วนั้น หลักสำคัญยิ่งกว่าสิ่งใดที่จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตจริงของเราทุกคนไม่ว่าจะเป็นในบ้าน หรือสำนักงานหลังหนึ่ง มันคือ ตัวของผู้อยู่อาศัยทุกคนที่จะร่วมสร้างบรรยากาศแห่งความรัก ความสุข ความอบอุ่น ความเอื้ออาทร ความสมัครสมานสามัคคี ให้เกิดขึ้นร่วมกันภายใต้ชายคาที่เราใช้ชีวิต หรือทำกิจการงาน เพราะตัวเปิดทาง หรือเครื่องนำทางที่มีพลังที่สุดนั้นคือเรา

.

ขอบคุณเนื้อหาข้อมูลบางส่วนจาก 徐华发 ใน Blockdid

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *