5 แบบห้องครัวยอดนิยม Kitchen Layouts

สำหรับใครที่กำลังวางแผนทำห้องครัวที่บ้านอยู่แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไงดี บทความนี้จะนำพาท่านทำความรู้จักกับแปลนครัวแบบต่างๆ
เพื่อจะได้เลือกแบบที่เหมาะสม ลงตัวกับพื้นที่และตอบโจทย์การใช้งานกันค่ะ

สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจ คือ กฎสามเหลี่ยมสำหรับห้องครัว เป็นกฎที่กำหนดด้วย 3 ฟังก์ชันหลักที่จะทำช่วยให้ครัวใช้งานได้ตอบโจทย์กับทุกคน
ไม่ว่ารูปแบบของแปลนครัวนั้นจะเป็นแบบไหน? ซึ่งหลักการของมันก็คือ “ตู้เย็น เตา และอ่างล้างจาน ควรอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ไกลกันมากนัก”
คำว่าไม่ไกลในที่นี้มีเกณฑ์ คือ เพียงแค่หมุนตัว หรือเดินเพียงไม่กี่ก้าวก็สามารถหยิบของใช้มาล้าง และปรุงอาหารได้อย่างคล่องตัว

.

ส่วนรูปแบบแปลนนั้น นอกจากความชอบส่วนตัวแล้ว เรื่องของปัจจัยจำกัดในส่วนบริเวณ และพื้นที่ ก็เป็นสิ่งที่เราต้องคำนึงถึงการตัดสินใจเลือกแปลนครัวด้วย
จะเป็นยังไงไปหาคำตอบด้วยกันเลยค่ะ

.

1. แบบห้องครัวที่ 1 รูปตัวไอ (I)
ลักษณะครัวชิดผนังด้านเดียว (One-Wall Kitchen) นับเป็นแบบห้องครัวทั่วไป เป็นการวางตำแหน่งเคาน์เตอร์ ตู้เก็บของ และเครื่องใช้ทั้งหมดไว้ที่ผนังด้านใดด้านหนึ่งของห้องครัว

เหมาะสำหรับ > ที่พักอาศัยที่มีพื้นที่แคบๆ เช่น บ้านหลังเล็ก คอนโด สตูดิโอ

ข้อดี > แปลนแบบนี้กินพื้นที่เพียงน้อยนิด ในขณะเดียวกันก็ยังเหลือที่ว่างพร้อมทั้งทำให้บรรยากาศในภาพรวมดูปลอดโปร่ง

.

2. แบบห้องครัวที่ 2 แถวตรง (Galley Kitchen)
เป็นแปลนที่มีทางเดินคั่นกลางระหว่างผนังทั้ง 2 ข้างของห้องครัว ในขณะที่ด้านหน้ากับด้านหลังของห้องครัว จะเป็นผนังหรือเป็นทางออกทั้ง 2 ด้านก็ได้ไม่จำกัด

เหมาะสำหรับ > ที่พักอาศัยที่มีตัวบ้านยาว หรือห้องครัวแยกออกไปจากตัวบ้าน

ข้อดี > แปลนห้องครัวในลักษณะนี้ นอกจากตำแหน่งตู้เก็บของและของใช้จะอยู่ใกล้มือ สามารถหยิบจับมาใช้ได้ง่ายแล้ว ยังมีเคาน์เตอร์ทำครัวเพิ่มขึ้นมาอีกด้าน ซึ่งมันก็เป็นพื้นที่ที่มากพอสำหรับรองรับคนทำครัวได้ถึง 2 คน หรือในกรณีที่ท้ายครัวเป็นผนังปิด เรายังสามารถต่อเติมเคาน์เตอร์ครัวเข้าไปเพื่อใช้เป็นที่วางของใช้เพิ่ม

Cr.Pinterest

.

3. แบบห้องครัวที่ 3 รูปตัวแอล (L)
ออกแบบเป็นรูปตัว L ด้วยการเข้ามุมเพื่อให้สามารถใช้งานพื้นที่ผนังทั้ง 2 ด้าน

เหมาะสำหรับ > ที่พักอาศัยขนาดเล็ก หรือขนาดกลาง และต้องการสเปซสำหรับจัดเก็บ หรือติดตั้งอุปกรณ์ครัวอื่นๆ นอกจากการใช้งานหลัก เช่น เตาอบ เตาไมโครเวฟ เครื่องซักผ้า

ข้อดี > เป็นแปลนที่ให้ความสะดวกในการเดิน และทำอาหาร พร้อมทั้งมีพื้นที่เหลือสำหรับวางโต๊ะ กับเก้าอี้รับประทานอาหาร

.

4. แบบห้องครัวที่ 4 เพนินซูล่า (The Peninsula)
แบบห้องครัวในลักษณะนี้มีความคล้ายคลึงกับครัวรูปตัวแอลคือ การวางเคาน์เตอร์ครัวที่มีทั้งด้านยาว และด้านสั้นบนผนังที่ติดกัน แต่แตกต่างออกไปตรงที่ครัวแบบเพนินซูล่า จะมีเคาน์เตอร์ส่วนที่เพิ่มเติมออกมาอีกด้าน แต่ก็ไม่ยาวเท่ากับแปลนครัวรูปตัวยู

เหมาะสำหรับ > ครัวที่มีบริเวณพื้นที่ ที่มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม

ข้อดี > เคาน์เตอร์ที่เพิ่มออกมาจะทำให้มีพื้นที่เก็บของมากขึ้น ทั้งยังใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นโต๊ะสำหรับรับประทานอาหารได้ด้วย

.

5. แบบห้องครัวที่ 5 รูปตัวยู (U)
แบบห้องครัวที่วางแปลนไว้บนผนัง 3 ด้านแบบรูปตัวยู (U) หรือเกือกม้า (Horseshoe) นิยมออกแบบให้มีไอส์แลนด์กลางห้องเพื่อเป็นจุดพักสำหรับวางของ หรือเป็นมุมนั่งเล่นนั่งทานอาหารเพิ่มด้วย

เหมาะสำหรับ >

พื้นที่ขนาดใหญ่ คือมีพื้นที่มากพอที่จะมีระยะห่างระหว่างผนังอย่างน้อย 3 เมตรขึ้นไป เพื่อให้ง่ายต่อการจัดเตรียม ทำความสะอาด และการใช้ฟังก์ชั่นเสริมต่างๆ หากพื้นที่ตรงกลางแคบเกินไปอาจพบปัญหาหน้าบานประตูของเก็บของ หรือลิ้นชักชนกันได้ ในกรณีที่มีการเปิดใช้พร้อมกัน

ข้อดี >

เป็นแปลนครัวที่ตอบโจทย์กับครอบครัวใหญ่ และคนที่ทำอาหารจริงจัง สามารถใช้งานครัวได้เต็มพื้นที่ ติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ได้อย่างครบครันเต็มรูปแบบ และกำหนดฟังก์ชันพื้นที่ส่วนเตรียม ส่วนปรุง และส่วนล้างให้อยู่ในระยะที่เดินใช้งานได้สะดวก

.

มาถึงตรงนี้ เชื่อว่ามีคุณผู้อ่านหลายท่านอาจตั้งคำถามว่า สำหรับบ้านพื้นที่มีพื้นที่แคบ ถ้าจะให้เลือกแบบห้องครัว ควรเลือกแบบไหนที่เหมาะที่สุด และจะมีวิธีจัดวางแผนผังห้องครัว รวมถึงเทคนิคอย่างไรที่จะช่วยให้ครัวขนาดเล็กดูกว้างขึ้นได้ ลองมาดูไอเดียตามนี้กันค่ะ

ข้อจำกัดของด้านพื้นที่บ้านที่มีห้องครัวแคบ หรือมีขนาดเล็กอาจทำให้หลายบ้านดูอึดอัด และเกิดความไม่สะดวกเมื่อใช้งาน เราจึงต้องเลือกแบบครัวที่จะตอบโจทย์กับพื้นที่ และการใช้งานเพื่อให้เกิดความสะดวก สบาย คล่องตัว และปลอดภัย

ปกติเรานิยมแบ่งห้องครัวออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ ครัวไทย และครัวลักษณะเตรียมอาหาร (Pantry Kitchen) โดยมากห้องครัวสำหรับบ้านที่มีพื้นที่แคบส่วนใหญ่มักเหมาะกับการทำครัวรูปแบบครัวลักษณะเตรียมอาหาร (Pantry Kitchen) ซึ่งเป็นครัวที่ไม่ใช้ในการประกอบอาหารหนักเหมือนครัวไทยที่อาจมีปัญหาเรื่องกลิ่นตามมา

แบบครัว Pantry เป็นครัวที่อยู่ภายในบ้าน ซึ่งมักเป็นพื้นที่ที่มีความต่อเนื่องกับห้องรับประทานอาหาร ดังนั้นรูปแบบของผังครัว Pantry สำหรับแบบครัวที่เหมาะกับพื้นที่แคบส่วนใหญ่ จึงนิยมจัดเป็น 2 แบบ ได้แก่

  • แบบห้องครัวสำหรับพื้นที่แคบแบบที่ 1
    ลักษณะการจัดวางแบบเส้นตรง รูปตัวไอ (One Wall Kitchen) เหมาะกับพื้นที่ห้องครัวที่มีขนาดประมาณ 1.5 x 3 เมตร

ลักษณะการจัดวางแบบชิดผนังเป็นเส้นตรง นิยมวางตำแหน่งแรกให้เป็นส่วนบริเวณทำความสะอาดคืออ่างซิงค์ล้างจาน ถัดมาเป็นส่วนเตรียมอาหาร ตามด้วยตำแหน่งเตาไฟ ส่วนตู้ครัวก็จะติดตั้งแบบลอยตัวโดยจัดวางเป็นแบบแถวเดียวชิดผนังทั้งหมดเช่นกัน

  • แบบห้องครัวสำหรับพื้นที่แคบแบบที่ 2
    ลักษณะการจัดวางแบบ รูปตัวแอล (L-Shaped Kitchen) เหมาะกับห้องครัวที่มีพื้นที่กว้างไม่ต่ำกว่า 2 x 2.5 เมตร และจะลงตัวสวยสมบูรณ์แบบหากมีขนาดพื้นที่ประมาณ 2.5 x 3 เมตร

ลักษณะการจัดวางอุปกรณ์จะมีการจัดวางเคาน์เตอร์แบบเข้ามุมชิดผนัง 2 ด้าน โดยมีด้านหนึ่งยาว และด้านหนึ่งสั้น เป็นรูปทรงแบบตัว L นิยมวางตำแหน่งส่วนเตรียมอาหาร และเตาไฟไว้ที่เคาน์เตอร์ฝั่งที่สามารถระบายกลิ่นควันออกภายนอกบ้านได้

.

การเลือกแบบห้องครัวให้เหมาะกับพื้นที่แล้ว ยังมีความสำคัญของการจัดวางแผนผังห้องครัวที่ไม่ควรมองข้าม เราต้องออกแบบวางแผนให้ดี โดยจะต้องเลือกอุปกรณ์เครื่องใช้หลักๆ ที่จำเป็นให้ได้เสียก่อน เช่น เตา อ่างล้างมือ ตู้เย็น ตู้ครัว ฯลฯ เมื่อเลือกอุปกรณ์ได้ตามความต้องการแล้ว จากนั้นจึงวางผังห้องแบบย่อส่วนเพื่อดูตำแหน่งการจัดวางที่พอดีกับขนาดของอุปกรณ์เครื่องใช้ รวมถึงคิดถึงความเหมาะสมของพฤติกรรมการใช้งานครัวต่อไปนี้คือ

  1. การวางเตา อ่างล้าง และตู้เย็น ควรวางให้อยู่ใกล้กันเพื่อความคล่องตัว ขณะปรุงอาหาร
  2. เคาน์เตอร์ หรือโต๊ะวางเตา ควรมีระยะความสูงที่เหมาะสมอยู่ที่ประมาณ 900 มม. แต่ถ้าจะวางอ่างล้างจานควรเพิ่มให้สูงขึ้นอีก 75 มม. หรือประมาณ 3 นิ้ว
  3. ควรให้มีที่ว่างข้างเตา เพื่อเตรียมไว้สำหรับวางเครื่องประกอบอาหาร และจานชามได้
  4. การวางตู้เก็บของ หรือภาชนะต่างๆ ควรกำหนดให้อยู่ใกล้อุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกัน เช่น ตู้เก็บกระทะ หม้อ หรือ ชั้นวางเครื่องปรุงต่างๆ ควรอยู่ใกล้เตา ตู้เก็บจานควรอยู่ใกล้อ่างล้าง เพื่อสะดวกในการเก็บเข้าที่ หรือหยิบใช้ได้สะดวก
  5. การวางปลั๊กไฟฟ้า ควรเดินสายให้มีที่เสียบปลั๊กสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างน้อย 2 จุด

.

นอกจากแบบครัวตัวไอ หรือ ตัวแอล ซึ่งเป็นแบบครัวที่ตอบโจทย์กับพื้นที่ที่มีขนาดเล็กได้ดีแล้ว เรายังสามารถเพิ่มเติมเทคนิคที่ช่วยให้ครัวขนาดเล็กดูกว้างขึ้น เป็นการช่วยสร้างบรรยากาศให้ครัวดูสวย โปร่ง โล่ง สบายตาเพิ่มขึ้นได้ด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้

แต่งห้องครัวให้เป็นสีขาว
สีขาว เป็นสีที่เหมาะสมกับห้องครัวมากที่สุด ถ้าเลือกใช้เคาน์เตอร์ ตู้ และกำแพงเป็นสีขาวทั้งหมด จะทำให้ครัวขนาดเล็กดูกลมกลืนจนเหมือนไม่มีขอบกั้น และสีขาวเป็นสีที่ดูสว่างจึงช่วยทำให้ห้องครัวดูกว้างขึ้นได้

ลดความแตกต่างของสีภายในห้องครัว
ยิ่งภายในห้องครัวดูเป็นไปในธีมเดียวกันเท่าไหร่ ก็ยิ่งช่วยให้ห้องครัวดูกว้างขึ้นเท่านั้น เพราะมุมมองของสีที่ไปในทางเดียวกันทำให้ไม่มีอะไรดูขัดตาจนเกินไป

ทำห้องครัวให้เปิดรับแสง
แสงธรรมชาติที่สาดส่องเข้ามา ไม่ว่าในพื้นที่ใด ก็ช่วยให้พื้นที่นั้นดูกว้างขึ้นได้ ดังนั้นถ้าอยากให้ห้องครัวดูกว้าง จึงควรทำให้แสงธรรมชาติส่องเข้ามาในพื้นที่ของห้องครัวได้อย่างเต็มที่

เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ดูโปร่ง
เฟอร์นิเจอร์ที่ดูโปร่งจะช่วยทำให้ห้องครัวดูโล่งขึ้นมากกว่าการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ทึบๆ เพราะจะทำให้ห้องครัวดูคับแคบได้ ดังนั้นการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ก็เป็นอีกทางเลือกนึงที่จะช่วยทำให้ห้องครัวดูโล่งและกว้างขึ้น เช่น ใช้หน้าบานตู้ครัวเป็นหน้าบานเฟรมอลูมิเนียมกระจกใส

ใช้เชลฟ์ (Shelf) วางของแทนตู้ทึบ
ทำให้ห้องครัวดูกว้างขึ้นแบบง่ายๆ โดยแทนที่การใช้ตู้ทึบ ด้วยเชลฟ์วางของแบบโล่งๆ ไร้ขอบ ไร้ฝาปิด ช่วยลดความหนาแน่น ทำให้ห้องครัวดูโปร่งโล่ง หากอยากให้มีลูกเล่นที่ดูโมเดิร์น สามารถใช้เชลฟ์ อุปกรณ์ชุดชั้นอเนกประสงค์พร้อมรางไฟ LED SHE05 (พิจารณาดูนะคะว่าอยากจะ Tei-in สินค้าตัวนี้ลงไปมั๊ย หากไม่ก็ตัดออกได้ค่ะ)

.

สุดท้ายนี้ ครัวจะเล็กจะใหญ่นั้นอาจไม่ใช่สิ่งสำคัญ เพราะห้องครัวจะสวยได้นั้นต้องเริ่มจากการเก็บของให้เป็นระเบียบและสะอาดอยู่เสมอนะคะ สามารถติดตามอ่านบทความเกี่ยวกับ ไอเดีย หรืออุปกรณ์ตัวช่วยในการจัดเก็บห้องครัวได้เพิ่มเติม

.

บทความที่เกี่ยวข้อง

5 ข้อห้าม ฮวงจุ้ยตำแหน่งเตาไฟในห้องครัว พร้อมวิธีแก้
7 เคล็ดลับ ฮวงจุ้ยห้องครัว
4 ไอเดียจัดตู้ใต้ซิงค์ล้างจาน หยุดหมก! เปลี่ยนพื้นที่สุดรกให้เป็นระเบียบ
7 ฟังก์ชันที่ห้องครัวต้องมี!
จัตะแกรงคว่ำจาน อุปกรณ์จัดเก็บภายในครัว