ทำความรู้จักกับสไตล์ Japandi

การออกแบบในสไตล์ Japandi เป็นการผสมผสานที่สมบูรณ์แบบของสไตล์สแกนดิเนเวีย และมินิมอลแบบญี่ปุ่นเข้าไว้ด้วยกัน ที่นำมาสู่รูปแบบของดีไซน์ที่ชัดเจนถึงฟังก์ชัน และฟอร์ม รวมถึงการเน้นเส้นสายที่เรียบง่าย การมีพื้นที่ที่สว่าง และการใช้สีเฟอร์นิเจอร์ที่อ่อนละมุน จึงทำให้สไตล์การแต่งบ้านแบบ Japandi นี้มีความเป็นศิลปะที่ให้ความรู้สึกแบบธรรมชาติ และมันจึงกลายเป็นเทรนด์การออกแบบบ้านแห่งยุคสำหรับผู้ที่ชื่นชอบดีไซน์สบายตา และได้อารมณ์ชวนอบอุ่นหัวใจ

เมื่อหลายปีก่อน เราได้เห็นเทรนด์ตกแต่งภายในสไตล์ลอฟต์ได้รับความนิยมในทุกที่ ไม่ว่าจะร้านอาหาร ร้านกาแฟ หรือแม้แต่ที่พักอาศัย ที่ไหนๆ ก็อยากจะลอฟต์กับเขา ทั้งผนังปูนเปลือย ที่แต่ก่อนมักจะถูกแซวว่าเหมือนสร้างไม่เสร็จ แต่พอสไตล์ลอฟต์ฮิตขึ้นมามันก็เท่แบบไม่มีเหตุผล ต่อมาก็เป็นสไตล์มินิมอล เรียบง่าย เน้นเฟอร์นิเจอร์ไม้สีอ่อน (และต้นไทรใบสัก) และก็ต่อมาด้วยสไตล์สแกนดิเนเวียน Scandinavian ที่ก็ฮิตขึ้นมาในบ้านเราอย่างมากมาย แต่เทรนด์ดีไซน์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ก็ได้มีการสร้างสรรค์นำเอาเสน่ห์ และจุดแข็งของสองสไตล์มารวมกัน จนเราได้เห็นเป็นเทรนด์ตกแต่งภายในที่โดนใจใครหลายๆ คนในชื่อว่า ‘Japandi’

.

ความสวยงามที่ลงตัวของสไตล์นี้เกิดจากรวมเอาเสน่ห์ของ Japanese ซึ่งหลักพื้นฐานของการออกแบบในสไตล์ญี่ปุ่นนั้น มันเป็นที่รู้จัก และเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลกมายาวนานด้วยเอกลักษณ์ส่วนตัวของ Japanese Minimalist ที่ยึดเอาความเรียบง่ายในแบบเซนเป็นที่ตั้ง ซึ่งสังเกตุได้จากการที่เรามักจะไม่ได้เห็นเส้นสาย สีสัน หรือการออกแบบที่หวือหวา ฉูดฉาด ไม่มีการใส่อะไรที่ไม่จำเป็นลงไปเลยแม้แต่น้อย เรียกว่าเป็นสไตล์ที่น้อยในจำนวนและน้อยในรูปลักษณ์ ดังที่เราจะมักได้เห็นผนังสีขาวโล่งสบายตา กับเฟอร์นิเจอร์สีอุ่นที่เข้ากันได้ดีกับสีของผนัง นี่คือแพทเทิร์นของสไตล์นี้ ที่นำเอาความอบอุ่น สบายตา มาสู่ที่พักอาศัยให้กับผู้คน

อีกหนึ่งขั้วของส่วนที่ Japandi ได้หยิบเอามาผสมผลานคือ สไตล์สแกนดิเนเวียน Scandinavian หลายคนอาจนึกภาพไม่ออกว่าจุดเชื่อมต่อของสองฝั่งซีกโลกนี้มาเจอกันได้อย่างไร คงต้องกางแผนที่โลกเพื่อทำความเข้าใจไปพร้อมกัน ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าทั้งประเทศญี่ปุ่น และประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ไม่ได้อยู่ใกล้กันมากพอที่จะนับว่า มีวัฒนธรรมร่วมในภูมิภาคเดียวกัน ก็เพราะอยู่กันคนละทวีป แต่เมื่อขยายลงไปที่แนวคิดในการใช้ชีวิตแล้ว 2 ประเทศนี้มีจุดคล้ายหลายอย่างที่มีความเหมือนกัน คือเรื่องของแนวคิดการใช้ชีวิตที่ว่า มีความสุขได้แม้อยู่ท่ามกลางสิ่งที่ไม่สมบูรณ์แบบ ค่านิยมหลักในการใช้ชีวิตของทั้งสอง เน้นไปที่การใช้ชีวิตให้มีความสุขโดยตั้งอยู่บนความอบอุ่น ความเรียบง่ายเป็นหลัก และแนวคิดเหล่านั้น ก็ถูกสะท้อนออกมาในรูปแบบของดีไซน์การตกแต่งบ้านอย่างที่เราได้เห็นกัน

ด้วยค่านิยมการใช้ชีวิตที่ยึดโยงอยู่กับธรรมชาติของชาวสแกนดิเนเวียน จึงทำให้ผู้คนชื่นชอบไลฟ์สไตล์การทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือกิจกรรมนอกบ้านที่ได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ และเมื่อฤดูหนาวที่ยาวนานมาถึง ด้วยสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยในการทำกิจกรรมนอกบ้าน เราจึงได้เห็นความคิดสร้างสรรค์ที่ชาญฉลาดในการหยิบเอาความเรียบง่าย วัสดุเฟอร์นิเจอร์ที่โชว์พื้นผิวแบบธรรมชาติ โทนสีที่อบอุ่น สว่าง และสบายตา การออกแบบให้ห้องโปร่ง โล่ง เพื่อให้บ้านได้มีแสงจากธรรมชาติเข้าถึงเพื่อมาเติมเต็มอารมณ์ความรู้สึกถึงการได้ใกล้ชิดธรรมชาติ

.

เมื่อฝั่งตะวันตก มาพบกับฝั่งตะวันออก ที่จุดเชื่อมแนวคิดของทั้งสองที่ตั้งอยู่บนเรื่องของบรรยากาศ และความรู้สึกที่ความอบอุ่นท่ามกลางความเรียบง่ายเป็นหลัก เมื่อทั้งสองดีไซน์ถูกนำมารวมกัน มันจึงไปด้วยกันได้ดีมากๆ จนแทบจะหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวได้ เราจึงสามารถบ่งชี้ถึงเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ของสไตล์ Japandi ว่ามันคือการผสมผสานระหว่างความเป็นเจ้าแห่งฟังก์ชั่นของ Scandi บวกกับรูปลักษณ์ที่เรียบง่ายของ Japanese อย่างมินิมอลที่เรารู้จักกันนั่นเอง

เราก็ได้ทำความรู้จักกับความเป็นสไตล์ Japandi กันไปอย่างเต็มที่แล้วมาถึงช่วงคำถามสำคัญที่เชื่อว่ามีหลายคนอยากทราบคือ หากสนใจจะแต่งบ้านในสไตล์Japandi ต้องทำอย่างไร และมันมีองค์ประกอบอะไรบ้าง? เราสรุปมาให้แล้วค่ะ

.

1. ต้องใช้โทนสีที่อ้างอิงจากธรรมชาติ

หลายคนอาจคิดว่า สีหลักอาจจะต้องเป็นกำแพงขาวโล่ง แต่ในความจริงแล้ว เราสามารถรับเอาสไตล์ Scandi ที่สร้างสรรค์เอาโทนสีจากธรรมชาติอื่นๆ มาใช้ได้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นพื้น ผนัง หรือแม้แต่สีของเฟอร์นิเจอร์อย่างสีเขียวของใบไม้ สีน้ำตาล เบจ ของพื้นดิน หรืออะไรที่ออกจะเอิร์ธโทนอย่างที่เราคุ้นกัน สิ่งเหล่านี้จะทำให้บ้านของเราน่าเบื่อจนเกินไป และการหยิบสีเหล่านี้มาจับคู่พื้นผนังกับเฟอร์นิเจอร์ ก็เป็นอีกคงามคิดสร้างสรรค์ที่สามารถนำมาแต่งบ้านให้ดูสนุกๆ และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้

.

2. มีองค์ประกอบพื้นผิวจากธรรมชาติ

ทั้ง Scandi และ Japanese Minimalist ต่างหยิบความอบอุ่นอย่างเป็นธรรมชาติของไม้มาใช้ นอกจากไม้แล้ว เรายังสามารถหยิบผิวสากๆ ของดิน หิน เปลือกไม้ มาใช้ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะพื้น ผนัง ท็อปโต๊ะ เคาน์เตอร์ หรือแม้แต่พื้นผิวบนเฟอร์นิเจอร์ ที่สามารถโชว์ลวดลายธรรมชาติได้ การเติมความอบอุ่นในทุกห้องอย่างพื้นผิวของไม้ ในพื้นที่แบบ open space ก็เป็นการดึงเอาสเน่ห์ของทั้งสองสไตล์มาไว้ด้วยกันได้อย่างลงตัว หรือการทำ Houseplant ที่หยิบเอาธรรมชาตินอกบ้านมาไว้ข้างในบ้านกับเราด้วย อย่างที่เราบอกไว้ข้างต้นว่า วิถีชีวิตของชาวสแกนดิเนเวียน มักจะยึดโยงอยู่กับธรรมชาติเสมอ ลองหยิบเอาต้นไม้มาใช้แทนของตกแต่งกระจุกกระจิก เพื่อช่วยเพิ่มความเป็นธรรมชาติ ความอบอุ่นให้กับบ้านมากขึ้น และยังช่วยลบเหลี่ยมมุมของห้องสี่เหลี่ยม ไม่ให้มันแข็งทื่อจนเกินไป

.

3. ใช้เส้นสายง่ายๆ แบบ Simple

หากไม่อยากให้บ้านจืดชืดจนเกินไป และคิดอยากจะเติมเฟอร์นิเจอร์ที่มีเส้นสาย หรือลวดลายอะไรลงบนหน้าต่าง ประตูแล้วล่ะก็ ควรเลือกเป็นเส้นสายที่เรียบง่าย เส้นตรง เส้นโค้ง ที่ไม่พันกัน อยากให้หลีกเลี่ยงพวกเหล็กดัดที่มีลวดลาย หรือสีสัน เพราะมันจะให้ความรู้สึกยุ่งเหยิง และไม่เข้ากันกับดีไซน์ในบ้าน สิ่งที่มีเส้นสายที่ไปด้วยกันได้จะเป็นพวกฉากกั้นไม้ไผ่ เก้าอี้หวาย หรือหมอนอิงลายทาง เป็นต้น

.

4. เปิดพื้นที่ให้โอบรับแสงจากธรรมชาติ

ไม่มีแสงไหนจะให้ความรู้สึกอบอุ่นอย่างเป็นธรรมชาติได้เท่าแสงแดดอีกแล้ว และอาจเพราะหน้าหนาวที่ยาวนานของแถบสแกนดิเนเวียน พวกเขาจึงมักออกแบบบ้านให้มีหน้าต่างบานใหญ่ เพื่อโอบรับแสงแดดจากธรรมชาติมาคอยให้ความอบอุ่นในฤดูหนาว การมีหน้าต่างบานใหญ่เป็นการเพิ่มความโปร่ง โล่ง ทั้งนี้หากจะปรับให้เข้ากับประเทศเมืองร้อนแบบบ้านเราก็สามารถทำได้ แต่คงจะต้องใช้เป็นม่านสองชั้น และใช้ม่านโปรงกรองแสงอีกขั้นเพื่อป้องกันความร้อนที่มากเกินไป

.

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ได้ทำความรู้จักกับสไตล์ Japandi กันอย่างจุใจแล้วเชื่อว่าแต่ละคนคงจะมองเห็นภาพ และได้ไอเดียนำไปใช้แต่งบ้านกันได้ไม่มากก็น้อย สำหรับใครก็ตามที่มีสไตล์การแต่งบ้านแนวอื่นอยู่ หากสนใจการแต่งบ้านสไตล์นี้ก็อาจจะหาพื้นที่ซักโซนนึงซึ่งอาจจะเป็นสวนหน้าบ้าน หรือริมระเบียง มาเป็นมุมออกแบบตกแต่งให้เป็นสไตล์ japandi เพื่อจะได้มีพื้นที่ที่เรียบง่าย เหมาะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจแบบใกล้ชิดกับธรรมชาติได้ค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *