โดยปกติของบ้านไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว หรือบ้านทาวน์โฮม ส่วนใหญ่จะมีมุมอับภายในบ้าน เช่น พื้นที่บริเวณใต้บันได โถงทางเดิน ในแต่ละส่วนของบ้าน ห้องครัว หรือแม้แต่ช่องว่างเล็กๆ ของมุมกำแพง ซึ่งถือเป็นจุดที่หากเราออกแบบจัดตกแต่งให้ดี นอกจากจะทำให้บรรยากาศภาพรวมของบ้านออกมาดูสวยขึ้นแล้ว ในบางจุดเราสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่เหล่านั้นได้อีกด้วย
บทความนี้ฟิวเจอร์เทคจะชวนมาดูทริควิธีแก้ไขมุมอับของบ้าน เพื่อเราจะได้เรามีไอเดียวิธีจัดการกับปัญหาเหล่านี้ให้บ้านออกมาดูสวยลงตัว สบายตา และน่าอยู่ทุกมุมมองกันค่ะ
.
พื้นที่ 1 “มุมอับพื้นที่ว่างใต้บันได”
จุดนี้เป็นบริเวณที่สร้างความกลุ้มใจให้ใครหลายคนมากที่สุด ยิ่งบ้านที่มีขนาดไม่กว้างมาก พื้นที่ว่างใต้บันไดก็จะมีขนาดเล็กที่เป็นมุมอับ และคับแคบ ยากที่จะออกแบบให้เป็นมุมประโยชน์ใช้สอยได้ และจุดนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่โดยเฉพาะสำหรับคนที่เชื่อในเรื่องของฮวงจุ้ยเพราะศาสตร์ฮวงจุ้ยเชื่อว่า พื้นที่ใต้บันไดเป็นบริเวณที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะ ‘เป็นจุดที่จะช่วยเสริมให้คนในบ้านอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข’ ดังนั้นหากเราปล่อยปละละเลย ปล่อยให้มืด หรือเก็บของรกๆ ก็จะถือเป็นฮวงจุ้ยที่ไม่ดี อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ไปดูทริคว่าเราจะสามารถจัดการกับพื้นบริเวณนี้ได้อย่างไรบ้างกันค่ะ
- ทริคที่ 1
หากมีพื้นที่ความกว้าง และความสูงเพียงพอ อาจลองพิจารณาการกั้นเป็นห้องน้ำ หรือห้องเก็บของก็เป็นไอเดียที่ดี สิ่งสำคัญคือจะต้องทำให้สามารถระบายอากาศเพื่อป้องกันกลิ่นอับได้โดยอาจเลือกใช้หน้าบานที่มีช่องอากาศผ่านได้ และต้องให้ความสำคัญ กับความสว่างที่ต้องให้มีแสงเข้าถึง เพื่อตอบโจทย์ในแง่ของการใช้งาน และการทำความสะอาดที่ทั่วถึง
- ทริคที่ 2
กรณีที่มีพื้นที่ว่างใต้บันไดไม่มากอาจแก้ปัญหาง่ายๆ ด้วยการทำน้ำพุน้ำตกใต้บันได ก็ถือว่าได้ทั้งความสวยงาม และตอบโจทย์การแก้ไข ฮวงจุ้ยไปในตัว อย่างไรก็ตามแม้จะสร้างเป็นห้องน้ำ ห้องเก็บของ หรือน้ำตก เราก็ควรหมั่นดูแลรักษาความสะอาดเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค และสัตว์รบกวนนานาชนิด แม้เราจะออกแบบตกแต่งใหม่แล้ว ก็อย่าปล่อยให้บริเวณใต้บันไดเป็นพื้นที่ที่ถูกลืมนะคะ
- ทริคที่ 3
บ้านทาวน์เฮ้าส์ หรือบ้านที่มีพื้นที่ใช้สอยไม่กว้างมากพอ หากการกั้นห้อง หรือเอาของตกแต่งไปวางไว้บางทีก็อาจจะทำให้ดูอับคับแคบลงไปอีกทริควิธีอีกอย่างที่สามารถทำเพื่อแก้ปัญหา คือการทำตู้โชว์เฟอร์นิเจอร์บิ้วอินเป็นช่องพื้นที่สำหรับเก็บของก็ช่วยเปลี่ยนพื้นที่นี้ให้สวยงาม และน่ามองขึ้นกว่าเดิม สีสันที่แนะนำให้ใช้ควรเป็นสีขาว หรือสันสดใส เพราะจะเป็นการช่วยให้พื้นที่บริเวณใต้บันไดดูสว่าง มีมิติ และมีประโยชน์ขึ้น หากกรณีไม่ต้องการทำชั้นวาง ก็แนะนำให้กรุผนังปิดช่องตรงนั้นไปเลย ทั้งนี้อาจกรุวัสดุปิดผิวผนังเพื่อสร้างความแตกต่างจากผนังส่วนอื่นของบ้าน
.
พื้นที่ 2 “มุมอับบันได และโถงบันได”
สำหรับบ้านที่มีบันได หรือโถงทางเดินบริเวณบันไดค่อนข้างเล็ก และคับแคบ มีหลายวิธีการให้เลือกตกแต่งตั้งแต่จัดการส่วนของโครงสร้าง หรือหาของตกแต่งมาช่วยปรับเปลี่ยนบรรยากาศให้ดูสว่างโปร่งโล่ง และสวยงามมากขึ้น ทั้งนี้ด้วยพื้นที่ที่แคบอยู่แล้วจึงไม่แนะนำให้นำสิ่งของใดที่จะเป็นการกีดขวางทางเดินมาวางเพิ่ม แต่จะมีทริคไอเดียแนะนำแบบไหนอย่างไรไปติดตามอ่านกันค่ะ
- ทริคที่ 4
การปรับเปลี่ยนพื้นบันไดใหม่ให้เป็นสีสว่าง แนะนำพื้นบันไดที่ทำจากวัสดุธรรมชาติเช่นไม้ จะเป็นการช่วยปรับเปลี่ยนบรรยากาศภาพรวมจากมุมอับที่น่าอึดอัดให้กลายเป็นมุมที่ดูดีขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อแถมใช้งบประมาณไม่มาก
- ทริคที่ 5
ตกแต่งเพิ่มเติมให้พื้นที่ดูกว้างโปร่งโล่งขึ้นโดยใช้กระจกติดกับแนวผนังด้านข้างของทางขึ้นบันได จะทำให้บ้านดูมีความโมเดิร์นทันสมัยมากขึ้นได้ด้วย
- ทริคที่ 6
DIY ขั้นบันได ด้วยสติ๊กเกอร์คำที่มีความหมายดีดีแบบที่กำลังเป็นที่นิยม รวมถึงใช้ติดตกแต่งผนังในส่วนของโถงบันไดให้ดูสวยเก๋มีสไตล์โดยที่ไม่กีดขวางเกะกะพื้นที่ที่แคบอยู่แล้ว เนื่องจากเราติดสติ๊กเกอร์แนบไปกับผนัง
- ทริคที่ 7
ใช้แสงสว่างเข้าช่วย แนะนำให้หาไฟเซ็นเซอร์ที่จะเปิดสว่างแบบอัตโนมัติเวลามีสิ่งเคลื่อนไหว หรือมีคนกำลังเดินขึ้นบันได ลองนำมาติดตามขอบด้านข้างบันไดโดยเว้นเป็นระยะตามความเหมาะสม วิธีนี้รับรองว่าได้ประโยชน์หลายอย่างโดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัยในการ ใช้งานขึ้นลงบันได
.
พื้นที่ 3 “มุมอับหลังบ้าน”
หลังบ้านของคนไทยส่วนใหญ่จะนิยมทำเป็นครัว ในกรณีที่ที่อยู่อาศัยมีขนาดเล็ก เช่นทาวน์โฮม ทาวน์เฮ้าส์ หรือคอนโด การออกแบบตกแต่งมุมหลังบ้านใหม่เพื่อไม่ให้กลายเป็นมุมอับ อาจจะมีวิธีการที่แตกต่างกันไปตามรูปแบบการใช้งาน ขนาดของพื้นที่ รวมถึงความสูงของฝ้าเพดาน ก็เป็นปัจจัยสำคัญ ทั้งนี้ไม่ว่าพื้นที่หลังบ้านจะถูกใช้ทำเป็นอะไร สิ่งสำคัญที่เป็นหัวใจคือความสะอาด และการระบายอากาศได้ดี เพราะหากเกิดความอับชื้นมีกลิ่นเหม็นขึ้นมาเมื่อไหร่ มันก็จะเป็นการเชื้อเชิญแมลง หรือสัตว์รบกวนต่างๆ ให้เข้ามาในที่อยู่อาศัยในบริเวณนี้ ดังนั้นแนะนำว่า เราควรจะต้องทำให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่ได้รับการดูแล ไม่ปล่อยให้สกปรกรกร้าง และทริคไอเดียเพื่อไปปรับใช้จะเป็นอย่างไร ลองอ่านและนำไปใช้ตามความเหมาะสมกันดูนะคะ
- ทริคที่ 8
หากพื้นที่หลังบ้านของคุณเป็นห้องครัว และมีขนาดเล็ก อากาศที่หมุนเวียนได้ และความสว่างคือปัจจัยแรกที่คุณจะต้องให้ความสำคัญ หากคุณอยู่อาศัยแบบทาวน์เฮ้าส์ หรือทาวน์โฮมซึ่งด้านข้างซ้ายขวาถูกประกบด้วยกำแพง และด้านหลังไม่มีระเบียงให้เปิดรับแสงหรืออากาศเหมือนคอนโด แนะนำให้คุณติดตั้งเครื่องดูดอากาศ หรือหากทำได้ในส่วนของโครงสร้าง ตอนก่อกำแพงให้เลือกใช้บล็อกแก้ว ตกแต่งเข้าไป กับบางส่วนของกำแพง บล็อกแก้วมีข้อดีคือ ทำให้บรรยากาศดูสว่าง โปร่งโล่ง และในเวลาช่วงกลางวันแสงอาทิตย์จากธรรมชาติส่องเข้าถึงได้ ก็จะเป็นการช่วยป้องกันในเรื่องของความอับชื้นไปในตัว
- ทริคที่ 9
แต่งด้วยชั้นวางของสูงจรดเพดาน ชั้นวางของสูงจรดเพดานจะเป็นแบบบิวท์อิน หรือจะเป็นเฟอร์นิเจอร์แยกชิ้นก็เหมาะกับการแต่งหลังบ้านที่มีขนาดพื้นที่จำกัด เพราะนอกจากชั้นวางของขนาดสูงแบบนี้จะมีพื้นที่ให้คุณได้เก็บข้าวของเครื่องใช้ได้อย่างเหลือเฟือแล้ว ความสูงแบบต้องเงยหน้าขึ้นไปมองยังช่วยให้พื้นที่นั้นดูโอ่อ่าโปร่งโล่งมากขึ้นไปในตัวด้วย สิ่งสำคัญคือให้เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่เป็นสีสว่าง หรือสีอ่อน หากเป็นตู้ต้องเลือกใช้หน้าบานที่สามารถระบายอากาศได้
- ทริคที่ 10
ใช้สารช่วยดูดซับความอับชื้น ในกรณีที่บริเวณหลังบ้านระบายอากาศได้ไม่ดี และมีท่อน้ำทิ้ง อาจเลือกใช้สารดูดซับความชื้นที่หาซื้อได้ง่ายๆ เช่น ซิลิกาเจล หรือจะประยุกต์เอากากกาแฟมาวางไว้ แล้วคอยเปลี่ยนใหม่สักสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ทั้ง 2 วิธีนี้เป็นทริคที่ดีมากในการกำจัดความอับชื้น แล้วโดยเฉพาะกากกาแฟก็จะส่งกลิ่นที่หากใครชอบก็จะรู้สึกดี และผ่อนคลาย
.
พื้นที่ 4 “มุมอับตามซอกหลืบเล็ก”
ส่วนใดส่วนหนึ่งของบ้านที่จัดวางไม่ลงตัว อาจทำให้เกิดพื้นที่ว่างเล็กๆ ที่ยากต่อการใช้งานได้ ในบริเวณนี้ฟิวเจอคเทคอยากจะแนะนำให้ปรับแต่งมุมเล็กๆ ที่เป็นมุมอับ ให้กลายมาเป็นพื้นที่ที่สามารถใช้ประโยชน์ เป็นที่เก็บของสุดเก๋ จะมีทริคไอเดียแบบไหนอย่างไรบ้างไปอ่านกันดูค่ะ
- ทริคที่ 11
ซอกหลืบหลังบานประตูตู้เก็บของในครัว เราสามารถติดตั้งตะขอเพื่อเป็นที่สำหรับแขวนของใช้ประเภทจัดเก็บทัพพี ตะหลิว ตะกร้อตีไข่ ช้อนตวง อุปกรณ์ทำครัวต่างๆ ได้
- ทริคที่ 12
ซอกหลืบของอ่างล้างมือ เราสามารถหาชั้นวางที่มีขนาดพอดีกับช่องว่าง มาวางเก็บของเช่นกระดาษทิชชู่ สบู่ล้างมือ แป้ง หวี กระจก ฯลฯ แนะนำให้หาแบบที่มีล้อให้เลื่อนได้เพื่อเราจะได้ดันเก็บซ่อนเข้าไปในซอกหลืบ และลากออกมาเพื่อใช้งานได้อย่างสะดวก
- ทริคที่ 13
ซอกหลืบใต้ซิงค์ล้างจาน ในบรรดาตู้ครัวจะมีมุมอับที่ยากแก่การเข้าถึง กรณีนี้แนะนำให้หาอุปกรณ์ตกแต่งตู้ครัวมาติดตั้ง ซึ่งโดยมากจะเป็นกลุ่มประเภทตะแกรงสำหรับจัดเก็บเครื่องครัว ที่มีให้เลือกหลายแบบหลายวัตถุประสงค์การใช้งาน ทั้งนี้เราอาจจะต้องประเมินว่าซอกหรือบริเวณนั้นเหมาะกับการจัดวางของใช้ประเภทใด เพื่อที่จะได้เลือกประเภทของตะแกรง และฟังก์ชันการใช้งานให้เหมาะสม
.
เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับทริคไอเดียในการจัดการกับมุมอับในแต่ละส่วนของบ้าน เชื่อว่าผู้อ่านน่าจะได้ประโยชน์ไปปรับใช้ไม่มากก็น้อย ท้ายนี้สิ่งที่อยากจะฝากไว้ คือไม่ว่าที่อยู่อาศัยของเราจะเป็นแบบไหน ไม่ว่าแต่ละบริเวณของบ้านจะมีลักษณะอย่างไร หากเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อย การนำทริควิธีต่างๆ ไปใช้ลดปัญหามุมอับก็ย่อมจะไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดี เพราะต่อให้ตกแต่งบ้านแบบสวยงามแค่ไหนบรรยากาศก็จะไม่เป็นใจถ้าเราไม่ดูแลรักษาไว้ให้ดีนะคะ