9 วิธีออกแบบ จัดการบ้าน ให้ห่างไกลเชื้อโรค และฝุ่น PM 2.5

ไอเดียการออกแบบในมุมมองของงานสถาปัตยกรรม ที่ช่วยลดสิ่งสกปรก ฝุ่น เชื้อโรคต่างๆ และช่วยลดปัจจัยเสี่ยงอันเป็นสาเหตุของการเกิดโรคเพิ่มขึ้นได้อีกทางหนึ่ง สถานการณ์โลกที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ดูแล้วอาจจะไม่ค่อยรื่นรมย์เท่าไรนักกับการที่จะสนับสนุนให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็มีแต่ข่าวไวรัสโคโรน่า หรือฝุ่น PM 2.5 ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพทั้งทางตรงทางอ้อม และเนื่องจากเราคงไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงกับมลภาวะ หรือเชื้อโรคเหล่านี้ในเวลาที่ออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านได้มากนัก ดังนั้นสิ่งที่เราพอจะทำได้คือการใส่ใจจัดการกับบ้านที่เราอยู่อาศัย รวมถึงพื้นที่บริเวณรอบข้างให้ดีที่สุด ดังนั้นแนวคิดการออกแบบ ตกแต่งบ้าน ให้ห่างไกลเชื้อโรค จึงเป็นเรื่องที่เราควรจะหันมาให้ความสนใจ และปรับใช้เป็นอันดับต้นๆ เพราะมันเป็นวิธีป้องกันที่ทำได้ง่ายที่สุด จะมีวิธีการทำอย่างไรได้บ้างเราไปติดตามกันดูค่ะ

.

วิธีที่ 1. มีช่องเปิดที่แสงแดดส่องถึง ไม่ปิดทึบ

คงพูดได้ว่า การอยู่อาศัยที่ดีควรรับรู้ได้ถึงธรรมชาติอย่าง แสงแดด ลมและพื้นที่สีเขียว เรื่องแรกที่จะขอหยิบมาพูดก่อนก็คือเรื่องของ Daylight หรือแสงธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบ้าน เพราะนอกจากจะทำให้บรรยากาศดูกว้าง โปร่ง น่าอยู่อาศัยแล้ว แสงแดดยังช่วยฆ่าเชื้อโรค ทำลายแหล่งที่อยู่และแพร่กระจายของเชื้อต่างๆ ช่วยทำลายความชื้นที่เกิดขึ้นในช่วงเวลากลางคืน ทำให้บ้านของเราไม่อับและทึบ ในการออกแบบบ้านจึงควรมีช่องเปิดเพื่อให้แสงธรรมชาติส่องเข้าถึงได้อย่างเพียงพอ แต่ในขณะเดียวกันหากมากเกินไปก็จะทำให้บ้านของเราร้อนและอยู่ไม่สบายได้เช่นกัน

Tips ในการออกแบบช่องเปิด ถ้าเลือกได้ควรหลีกเลี่ยงทิศใต้และทิศตะวันตก เพราะจะได้รับอิทธิพลจากแสงแดดที่ค่อนข้างจ้าและร้อนมาก โดยทิศใต้จะรับแดดมากที่สุด และทิศตะวันตกจะเป็นทิศที่ร้อนที่สุดเนื่องจากรับแสงแดดโดยตรงในช่วงบ่ายนั่นเอง

.

วิธีที่ 2. มีช่องลมเพื่อให้อากาศหมุนเวียน ถ่ายเทสะดวก

เรื่องที่สอง คือ ลมหรือการไหลเวียนของอากาศภายในบ้าน เพราะไม่เพียงแต่จะส่งเสริมให้บ้านเย็นสบาย และประหยัดค่าไฟของเราแล้ว ยังช่วยระบายอากาศทำให้บ้านโปร่ง ไม่เหม็นอับ ในขณะเดียวกันสถานที่ตั้งของบ้านบางหลังอาจจะไม่เหมาะกับการมีช่องเปิดถ่ายเทลม อย่างเช่น บ้านที่ตั้งอยู่ในเมือง ซึ่งจะทำให้รับฝุ่น และสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในบ้านได้มากกว่าปกติ ซึ่งในยามวิกฤตของฝุ่น หรือเชื้อโรค อาจต้องแก้ปัญหาด้วยการลดจำนวนของช่องเปิดที่ไม่จำเป็น และเพิ่มตัวช่วยในการช่วยกรองฝุ่นเช่น ต้นไม้ หรือเครื่องฟอกอากาศ

Tips การออกแบบควรคำนึงถึงตำแหน่งของช่องลมด้วย ควรหลีกเลี่ยงทิศตะวันออกเฉียงเหนือเพราะลมในช่วงหน้าหนาวจะพัดฝุ่นเข้าบ้าน และช่องลมสำหรับตัวบ้านควรอยู่ด้านตรงข้ามกัน เพราะจะช่วยให้อากาศสามารถไหลเวียนได้ทั่วถึง ซึ่งความเร็วของลมที่พัดเข้าและออกนั้นขึ้นอยู่กับขนาดของช่องเปิดด้วยเช่นกัน

.

วิธีที่ 3. เพิ่มพื้นที่สีเขียว ช่วยกรองอากาศ

แน่นอนว่าการสร้างพื้นที่สีเขียวรอบๆ บ้านนั้น ย่อมมีข้อดีมากมาย เนื่องจากต้นไม้มีคุณสมบัติในการกรองฝุ่น สวนจึงเป็นเหมือนเกราะป้องกันชั้นแรกให้กับบ้านของเรา ต้นไม้เหล่านี้จะช่วยกรองฝุ่น และสิ่งปรกที่พัดจากถนนก่อนที่จะเข้าไปภายในตัวบ้าน นอกจากนั้นหากเราเลือกพันธุ์ไม้ที่มีคุณสมบัติพิเศษในการกรองสารพิษต่างๆ ก็จะยิ่งทำให้บ้านของเรามีคุณภาพอากาศที่ดียิ่งขึ้น ส่วนการเลือกปลูกพันธุ์ไม้ภายในห้อง จะต้องมั่นใจว่าห้องนั้นสามารถระบายอากาศได้ดี ไม่อย่างนั้นจะทำให้บ้านของเรามีความชื้นในกาศเพิ่มมากขึ้น และความชื้นนี้เอง ที่เป็นแหล่งกำเนิดของเชื้อโรคและเชื้อราต่างๆ

Tips สำหรับบ้านที่อยู่ติดถนน หรือเต็มไปด้วยมลภาวะ การปลูกไม้คลุมดินแทนการใช้คอนกรีตบริเวณหน้าบ้าน จะช่วยลดฝุ่น และสิ่งสกปรกที่พัดเข้ามาได้มากขึ้น

.

วิธีที่ 4. หลีกเลี่ยงซอกมุมเล็กๆ ที่ทำความสะอาดได้ยาก

มาถึงส่วนของภายในกันบ้าง การที่จะมีบ้านสะอาดแน่นอนว่าต้องหมั่นทำความสะอาด ในการออกแบบจึงควรเอื้อให้การทำความสะอาดนั้นเป็นไปได้โดยง่าย เพื่อลดการหมักหมมของสิ่งสกปรกต่างๆ จนเกิดเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคภายในบ้าน ด้วยการออกแบบที่กำหนดขอบเขตของห้องที่ชัดเจน ทำให้เกิดมุมน้อยที่สุด และหลีกเลี่ยงการออกแบบแปลนห้องที่มีซอกมุมเล็กๆ ทำให้เราทำความสะอาดได้ยากจนกลายเป็นจุดกักเก็บฝุ่นผงและสิ่งสกปรก

Tips ชั้นวางของหรือตู้ต่างๆ ถือเป็นตัวกักเก็บฝุ่น ควรเลือกใช้ตู้หรือชั้นวางที่มีบานปิด เพื่อป้องกันสิ่งสกปรกที่จะเข้าไปหลบอยู่ตามซอกต่างๆ การทำเฟอร์นิเจอร์ Built-in ฝังไปกับผนังจึงเป็นอีกทางเลือกที่ดีที่ช่วยลดซอกมุมได้มากกว่าเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว

.

วิธีที่ 5. หลีกเลี่ยงการใช้วัสดุที่ดักจับสิ่งสกปรกได้ง่าย

นอกจาก ‘วัสดุ’ จะเป็นตัวกำหนดมู้ดโทน และสไตล์ของบ้านแล้ว ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยทำให้บ้านของเราทำความสะอาดง่ายขึ้นอีกด้วย ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฝุ่นที่ถูกพัดพาจากภายนอกบ้านเข้ามาสะสมภายในตัวบ้านได้ง่าย คือวัสดุพื้นผิวของบ้านที่เราต้องเลือกใช้ให้ดี การออกแบบบ้านกันฝุ่นขั้นเริ่มต้น สำหรับห้องอยู่ติดริมถนน หรือมีช่องเปิดขนาดใหญ่ เราแนะนำให้เลือกวัสดุที่ทำความสะอาดได้ง่าย และลดการเกาะติด เช่นหลีกเลี่ยงวัสดุประเภทผ้า หรือวัสดุพื้นผิวขรุขระ เช่น ผนังก่ออิฐโชว์แนว อิฐบล็อกต่างๆ เหล็กดัด และการไม่ใช้วอลเปเปอร์ที่ทำจากผ้าติดตั้งในตัวบ้านก็มีส่วนช่วยได้มาก เนื่องจากวัสดุพื้นผิวเหล่านั้นทำความสะอาดยากแล้ว มันยังกักเก็บสิ่งสกปรกได้ง่าย ถ้าเป็นไปได้แนะนำให้ใช้วัสดุบริเวณพื้นที่หลักอย่างพื้น หรือผนัง ที่มีพื้นผิว เรียบ เท็กเจอร์เรียบๆ อย่างไม้ กระเบื้อง หรือหินขัด เป็นทางเลือกที่ดีในการนำมาออกแบบผนัง หรือพื้น เพราะทำความสะอาดได้ง่ายกว่า

Tips นอกจากวัสดุหลักของบ้านแล้ว องค์ประกอบเล็กๆ ภายในบ้านก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้วัสดุที่เก็บฝุ่นเช่นเดียวกัน เช่น พรม ผ้าขนสัตว์ หรือ วัสดุประเภทถัก – สาน

.

วิธีที่ 6. หลีกเลี่ยงการใช้ระนาบแนวนอนในการออกแบบ

เนื่องจากตำแหน่งของฟาซาด (องค์ประกอบของด้านหน้าบ้าน) ที่อยู่ส่วนนอกสุดของบ้าน ทำให้อากาศที่จะเข้ามาภายในบ้านต้องพัดผ่านส่วนดังกล่าวเข้ามา ในการออกแบบจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ระนาบแนวนอนบริเวณภายนอกของบ้าน เนื่องจากฝุ่นผงและสิ่งสกปรกจะเกาะได้ง่ายกว่าระนาบแนวตั้ง และลมก็จะพัดสิ่งสกปรกเหล่านี้ที่เกาะอยู่ให้เข้ามาภายในบ้านของเรา นอกจากนั้นเมื่อฝนตกระนาบที่อยู่แนวตั้งจะชะล้างสิ่งสกปรกที่ติดอยู่ให้หลุดออกไปได้ง่ายมากกว่า

Tips ระนาบแนวนอนยังรวมถึง บริเวณหลังตู้หรือชั้นวางของต่างๆ ซึ่งถ้าเลือกได้ควรออกแบบตู้ให้สูงติดฝ้าเพดาน เพื่อลดฝุ่นที่มักจะเกาะอยู่ตามหลังตู้ ซึ่งเป็นจุดที่เราทำความสะอาดได้ยาก

.

วิธีที่ 7. บ้านสไตล์มินิมอล ทำความสะอาดง่ายที่สุด

สไตล์มินิมอลในที่นี้ อาจจะไม่ได้หมายความว่า บ้านของเราจะต้องเป็นสีขาวคลีน แต่เป็นแนวคิดการออกแบบโดยเน้นใช้ของน้อยชิ้น เฉพาะชิ้นที่จำเป็นเท่านั้น ลองสังเกตบ้านทั่วไปที่มีชั้นวางหรือของชิ้นเล็กชิ้นน้อยมากมาย ย่อมสะสมฝุ่นและสิ่งสกปรก และยากที่จะทำความสะอาดได้หมดทุกชิ้น การใช้เฉพาะของชิ้นหลักในการตกแต่งห้อง อย่างโซฟา โต๊ะ เก้าอี้ ชิ้นสำคัญ ทำให้สิ่งสกปรกที่ลอยอยู่ในอากาศไม่มีที่เกาะ และตกลงพื้น ทำให้เราทำความสะอาดได้ง่ายกว่านั่นเอง

Tips วัสดุที่เรียบง่ายของสไตล์มินิมอล องค์ประกอบน้อยชิ้น ทำให้ไม่เป็นจุดหมักหมมของสิ่งสกปรก และสีขาวยังช่วยทำให้บ้านดูสะอาดตา มองเห็นสิ่งสกปรกได้ง่ายและชัดกว่าอีกด้วย

.

วิธีที่ 8. บานประตูหน้าต่างที่ปิดสนิท ช่วยให้บ้านกันฝุ่น

เพราะฝุ่น PM 2.5 ส่วนมากเล็ดลอดผ่านเข้ามาทางช่องเปิดของบ้าน การเลือกใช้บานประตูหน้าต่างที่ปิดสนิทจึงเป็นตัวช่วยสำคัญในการแก้ปัญหา หากใครคิดว่าแค่เดินเข้าบ้าน ก็ปลอดภัยหายห่วงจากฝุ่นละออง PM 2.5 ต้องไม่ลืมว่า “หน้าต่างมีหู ประตูมีช่อง!” ฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่าง PM 2.5 นี้ก็สามารถเข้ามาทางช่องเหล่านี้ได้เช่นกัน ทางที่ดีเข้าบ้านแล้ว ล็อกประตู ปิดหน้าต่าง หมุนบานเกล็ดให้เรียบร้อย แล้วล้างเนื้อล้างตัวให้สะอาด

Tips ในช่วงนี้มีค่าฝุ่น PM สูงๆ ควรงดการทำกิจกรรมนอกบ้าน หรือกิจกรรมกลางแจ้งที่ไม่จำเป็นไว้ชั่วคราว แล้วหันมาเปลี่ยนบรรยากาศลองทำกิจกรรมเหล่านั้นในบ้าน หรือในพื้นที่ปิดกันบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การซ้อมกีฬา แต่หากจำเป็นต้องออกไปนอกบ้านเมื่อไหร่ ก็ต้องไม่ลืมที่จะสวมหน้ากากอนามัยด้วยทุกครั้งนะคะ

.

วิธีที่ 9. เครื่องฟอกอากาศ เสริมความมั่นใจ

ปิดประตูหน้าต่างแล้ว ทำความสะอาดบ้านแล้ว ก็อย่าลืมคอยสร้างและรักษาอากาศดีๆ ให้อยู่ในบ้านของคุณไปตลอด เพราะอากาศที่ดีภายในบ้าน ย่อมหมายถึงสุขภาพที่ดีของทุกคนในครอบครัวที่จะตามมาเช่นกัน และวิธีหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับการสร้างอากาศดีภายในบ้าน นอกจากการทำความสะอาดบ้านอยู่เสมอแล้ว ก็คือการใช้เครื่องฟอกอากาศ ที่สามารถช่วยกรองฝุ่นละออง และเชื้อโรคในอากาศได้เป็นอย่างดี เครื่องฟอกอากาศจะทำหน้าที่ดูดอากาศภายในห้องเพื่อดักจับฝุ่นละออง โดยอากาศจะผ่านทะลุเข้ายังตัวกรองหลายชนิดแตกต่างกันไป เพื่อดักจับฝุ่นละออง จากนั้นจะส่งอากาศที่สะอาดผ่านกลับไปยังพื้นที่ห้องอีกครั้ง ดังนั้นแล้ว สิ่งที่เราต้องพิจารณาในการเลือกซื้อเครื่องฟอกอากาศให้ตอบโจทย์การใช้งานคือ ดูชนิดของตัวกรอง, คำนวณความสามารถในการกรองอากาศให้เหมาะสมกับขนาดของพื้นที่ห้อง, นอกนั้นก็อาจจะเป็นองค์ประกอบอื่นๆ เช่นระดับเสียงการทำงาน, ปัจจัยเรื่องของราคา รวมถึงการบำรุงรักษา และเปลี่ยนไส้กรอง

Tips อย่าลืมว่าเครื่องฟอกอากาศเหล่านี้ ต้องการการหมั่นถอดมาล้างทำความสะอาดอยู่เป็นประจำ เพื่อที่เครื่องจะสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพ และกรองอากาศที่ดีให้กับเรานะคะ

.