ห้องครัว คือ พื้นที่สำคัญที่เป็นเหมือนหัวใจของบ้าน เพราะนอกจากครัวจะเป็นพื้นที่สำหรับปรุงอาหารรับประทานแล้ว ยังสะท้อนวัฒนธรรม และแสดงให้เห็นวิถีชีวิตของผู้เป็นเจ้าของด้วย ดังนั้นการออกแบบห้องครัวจึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคิดพิจารณามากกว่าแค่ความชอบส่วนตัว แต่ต้องคำนึงถึงรูปแบบ และความต้องการในการใช้งานที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ด้วย ควรต้องเลือกประเภทครัวที่ใช่ ใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งปัจจุบันการออกแบบครัวสามารถเลือกออกแบบได้ทั้ง ครัวไทย และ ครัวฝรั่ง หรือบางบ้านก็เชื่อมโยง ทั้งครัวไทย และครัวฝรั่งเข้าด้วยกัน แต่ครัวทั้งสองประเภทนี้จะมีความแตกต่าง และแต่ละบ้านควรเลือกใช้ ห้องครัว แบบไหนดีมาลองอ่านเนื้อหากันดูค่ะ
.
ความแตกต่างระหว่างครัวไทย และครัวฝรั่ง
ครัวไทย (Thai Kitchen)
.
ครัวไทย คือครัวที่แยกออกไปจากตัวบ้าน หรือครัวที่อยู่นอกบ้าน จะมีลักษณะเปิดโล่ง แบ่งกั้นสัดส่วนชัดเจน ส่วนใหญ่มักจะอยู่บริเวณหลังบ้าน เพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก เพราะอาหารมื้อหลักส่วนใหญ่ของคนไทยจะเป็นอาหารประเภท ผัด ทอด แกง ต้ม ที่มีกลิ่นหอมฉุน ตลอดจนมีกรรมวิธีที่ก่อให้เกิดควันมากทั้งจากการผัด ทอด รวมถึงปิ้งย่าง และที่สำคัญยังมีเสียงดังโฉงเฉง อาทิ เสียงตำครก เสียงสับหมู ฯลฯ ด้วยพฤติกรรม และวิถีการทำอาหารไทย จึงจำเป็นต้องมีโซนพื้นที่ครัวอย่างชัดเจน “ครัวไทย” จึงเหมาะสำหรับบ้านเดี่ยวซึ่งมีอาณาบริเวณกว้างขวาง แต่หากเป็นทาวน์เฮ้าส์ หรือบ้านหลังเล็กที่มีพื้นที่จำกัด และจำเป็นต้องสร้างห้องครัวสำหรับประกอบอาหารแบบไทยๆ อยู่ในตัวบ้าน ก็ควรมีประตูกั้นระหว่างครัวกับห้องอื่นๆ เพื่อป้องกันเสียง กลิ่น ควัน และไอน้ำมัน ไม่ให้เข้าไปในตัวบ้าน และควรออกแบบครัวให้มีหน้าต่างกว้างๆ หลายๆ บาน เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก แต่หากมีข้อจำกัดในเรื่องนี้ก็อาจติดตั้งเครื่องดูดควัน หรือติดพัดลมระบายอากาศเพื่อช่วยกำจัดกลิ่น และควันออกไปจากบ้าน
.
.
ในด้านการออกแบบห้องครัวไทย สามารถดีไซน์ได้หลากหลายสไตล์ตามความต้องการของเจ้าของบ้าน ตั้งแต่สไตล์มินิมอล (Minimal Style) ที่มีความเรียบง่าย หรือ สไตล์ลอฟท์ (Loft Style) ดิบ เท่ ครัวไทยทั่วไปมักจะนิยมทำเป็นครัวปูนเพราะอาหารไทยๆ มีการลงมือลงไม้กันค่อนข้างรุนแรง เช่น ใช้ครกหินโขลกน้ำพริก ผัดผักบุ้งไฟแดงต้องไฟท่วมกะทะซะแว๊บนึงถึงจะแซ่บ จึงเป็นครัวที่ต้องทนแรงกระแทก และคราบมันต่างๆ ได้ดี ดังนั้นปูนจึงตอบโจทย์เรื่องความคงทนของการรับน้ำหนัก ครัวไทยที่คนไทยนิยมทำกันมาก คือ ก่ออิฐทำเคาน์เตอร์ปูน แล้วปิดหน้าท๊อปด้วยหินแกรนิต หินสังเคราะห์ หรือกรุด้วยกระเบื้อง แล้วอาจจะทำตู้เฟอร์นิเจอร์เก็บของด้านล่างเคาน์เตอร์ โดยใช้หน้าบานเป็นไม้ หรือหน้าบานพีวีซี
บางบ้านที่มีงบประมาณมากหน่อย ก็อาจทำครัวโดยใช้เป็นเคาน์เตอร์สแตนเลสทั้งชุด ซึ่งก็เป็นรูปแบบที่ตอบโจทย์ได้ทั้งความเป็นครัวไทย และครัวฝรั่ง หากมีงบประมาณน้อย หรือชื่นชอบความดิบ เท่ เป็นการส่วนตัว ครัวสไตล์ลอฟท์ (Loft Style) ก็ถือเป็นครัวที่ดี ที่ง่ายต่อการดูแลรักษา และทำความสะอาด แถมยังประหยัดงบประมาณได้มาก เพราะไม่ต้องตกแต่งอะไรมาก เน้นความเรียล (Real) สมจริงของพื้นผนัง และองค์ประกอบของไฟ
.
ครัวฝรั่ง (Western Kitchen)
ครัวฝรั่ง ก็คือครัวที่มีพื้นที่เป็นส่วนหนึ่งของตัวบ้าน หรือครัวที่อยู่ในบ้าน โดยมากจะออกแบบให้เรียบ โปร่งโล่ง กลมกลืน ไปกับการตกแต่งบ้านสมัยใหม่ เนื่องจากครัวรูปแบบนี้มักตั้งอยู่ภายในตัวบ้าน จึงไม่เน้นปรุงอาหารชนิดที่มีกลิ่น และควันรุนแรงเหมือน ครัวไทย ครัวฝรั่งมักใช้สำหรับประกอบอาหารเล็กๆ น้อย โดยจะมีลักษณะคล้ายแพนทรี่ (Pantry) คือมีเคาน์เตอร์ที่วางเตาไฟฟ้า หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับประกอบอาหารเมนูง่ายๆ เช่น อุ่น ต้ม ตุ๋น และต้องติดตั้งเครื่องดูดควันไว้เหนือเตา เคาน์เตอร์ของครัวฝรั่งนี้ จะถูกใช้เป็นที่จัดเตรียมอาหาร พร้อมกับเป็นโต๊ะอาหารไปในตัว ลักษณะครัวฝรั่งแบบนี้มักจะตั้งอยู่ในพื้นที่บริเวณบ้าน หรือห้องอาหาร ซึ่งตัวเคาน์เตอร์ครัวนั้น จะเปรียบเสมือนเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านที่ช่วยเพิ่มความโดดเด่น และมิติให้บ้านสวยงามยิ่งขึ้น และส่วนใหญ่คนที่เลือกทำครัวสไตล์นี้มักจะทำการบิวท์อิน เพื่อให้เข้ากับดีไซน์การออกแบบ และการตกแต่งภายในบ้านควบคู่กันไป
.
ในด้านการออกแบบ จุดเด่นของครัวฝรั่ง จะเป็นการจัดวางเคาน์เตอร์ Island (เคาน์เตอร์กลางครัว) ที่ช่วยให้การทำอาหารง่ายขึ้น แถมยังประหยัดพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านได้ อย่างที่กล่าวว่า เคาน์เตอร์ครัว ถือเป็นจุดเด่นของห้องครัวฝรั่ง ซึ่งทุกบ้านสามารถออกแบบเคาน์เตอร์ได้ตามความต้องการใช้งาน และรูปแบบแปลนภายในพื้นที่บ้าน เช่น เคาน์เตอร์ครัวรูปตัวแอล (L) เคาน์เตอร์ครัวรูปตัวยู (U) เคาน์เตอร์ครัวตัวไอ (I) บริเวณเกาะกลางครัวบริเวณใต้เคาน์เตอร์สามารถทำเป็นตู้ และลิ้นชักสำหรับจัดเก็บอุปกรณ์ชุดเครื่องครัว ในส่วนด้านบนหน้าท๊อปเคาน์เตอร์นั้น นอกจากจะใช้เป็นที่จัดเตรียมเมนูอาหาร รวมถึงตั้งอุปกรณ์ทำครัวที่เน้นความเรียบง่าย และทันสมัย เช่น เตาไฟฟ้า เครื่องดูดควันกระโจม เตาอบ เคาน์เตอร์ครัวฝรั่งยังสามารถใช้เป็นพื้นที่สำหรับนั่งรับประทานอาหารได้ด้วย จึงถือว่าเคาน์เตอร์ครัวฝรั่งเป็นดีไซน์ที่ดีที่มีฟังก์ชันช่วยประหยัดพื้นที่ใช้สอยภายในบ้าน ให้ใช้งานได้หลากหลายฟังก์ชันในพื้นที่เดียวกัน
ทั้งนี้ ยังมีครัวฝรั่งแนวใหม่ที่หลายคนอาจจะยังไม่ค่อยรู้จัก เป็นการออกแบบผสมผสานฟังก์ชันการใช้งานห้องครัวทั้ง 2 รูปแบบ คือสำหรับทำครัวหนัก และครัวเบา มาไว้รวมกัน เป็นดีไซน์ที่เรียกว่า “ครัวฝรั่งกึ่งเอาท์ดอร์” ครัวฝรั่งกึ่งเอาท์ดอร์ มีลักษณะเป็นครัวที่โปร่งโล่งเพราะจะตั้งอยู่ที่เฉลียงข้างบ้าน มีเคาท์เตอร์รูปตัวแอล (L) ตัวยาวเหมาะกับการใช้งานหนัก อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งเตาอบ เตาแก๊ส เตาย่าง หรือแม้กระทั่งเตาอบพิซซ่าก็มีครบ นิยมตั้งโต๊ะตัวยาวพร้อมม้านั่งสำหรับสมาชิกภายในบ้าน หรือจัดปาร์ตี้รับรองแขก เนื่องจากครัวนี้ตั้งอยู่ที่เฉลียงข้างบ้านที่มีผนังเปิดโล่ง จึงสามารถทำกับข้าวหนักเบาได้ทุกประเภท
.
ปัจจุบันบ้านเรือนส่วนใหญ่มีพื้นที่ใช้สอยค่อนข้างจำกัด และวิถีชีวิตของผู้คนจำนวนมากก็มักเร่งรีบกว่าคนในยุคก่อน ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมการทำครัว ทำให้วิถีด้านอาหารการกินจึงเปลี่ยนแปลงไป ด้วยเหตุนี้รูปแบบของครัวในปัจจุบันก็ย่อมมีการปรับเปลี่ยนตามไลฟ์สไตล์ ดังนั้นการจะมี “ห้องครัว” เป็นของตัวเอง จึงควรพิจารณาเลือกสรรให้เข้ากับที่อยู่อาศัย และเหมาะสมกับรูปแบบพฤติกรรมการใช้งานให้มากที่สุด ทั้งนี้บ้านบางหลังที่มีพื้นที่มากหน่อย ก็จะเลือกทำครัวแบบ Mix & Match คือมีทั้งโซนครัวไทย และ ครัวฝรั่งเข้าด้วยกัน เพื่อให้ง่ายต่อการทำทุกเมนูอาหารที่แตกต่างกันในแต่ละวันได้ แต่ไม่ว่าแต่ละบ้านจะเลือกใช้ ห้องครัวประเภทไหน ก็อย่าลืมพิถีพิถันในการดูแลรักษาความสะอาด เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวได้รับประทานอาหารที่ดี ถูกสุขลักษณะ เพื่อร่างกายที่แข็งแรง สุขภาพดี มีความสุขในการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุขในทุกๆ มื้อนะคะ
แนะนำอุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งครัว
- ครัวไทย เสนอชุดแขวน
.
- ครัวฝรั่ง เสนอที่แขวนแก้วไวน์
.