แต่งบ้านสไตล์ Mid-century Modern สวยเท่ มีสไตล์ ไม่ซ้ำใคร

ดีไซน์ที่ถูกผสมผสานกันอย่างลงตัวกับธรรมชาติ เฟอร์นิเจอร์รูปทรงเรขาคณิตที่เข้าถึงได้ง่าย เส้นสายที่มีความเรียบง่ายตรงไปตรงมา ใช้โทนสีหลักพวกพาสเทล (Pastel) หรือสีเอิร์ทโทน (Earth Tone) แต่ใส่ความสนุก และสร้างเอกลักษณ์ลงไปที่เฟอร์นิเจอร์ตัวโปรดสักชิ้นด้วยสีที่โดดเด่นได้ เป็นดีไซน์ที่ไม่ต้องคุมโทนตามแพตเทิร์น ถ้าคุณเป็นอีกหนึ่งคนที่ชื่นชอบความรู้สึกในอดีต ชอบความ Vintage แต่ไม่ชอบความฟุ้ง ความเกินในงานออกแบบสไตล์ Midcentury Modern ก็เป็นอีกหนึ่งสไตล์ที่อยากแนะนำสำหรับการแต่งบ้านของคุณ

วงการแฟชั่นไม่เคยมีอะไรล้มหายตายจากไปจริงๆ สิ่งเคยฮิตที่เชยลงในวันหนึ่งก็มักจะกลับมากลายเป็นกระแสหลัก และมันมักจะวนกลับมาหาเราอีกครั้งเสมอโดยอาจใช้เวลาห้าปี สิบปี หรือหลายสิบปี เช่นเดียวกับเทรนด์แต่งบ้านที่ก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน สไตล์  “Mid-Century Modern” ที่เคยได้รับความนิยมมากในช่วงสงครามโลกได้กลับมาครองใจผู้คนอีกครั้งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แม้อาจจะถูกกลบด้วยกระแสของการออกแบบตกแต่งสไตล์ อื่นๆ เช่น Industial Loft , Minimalist , Scandinavian Style ฯลฯ แต่ยังไงมันก็ไม่เคยจมหายไปไหน และกลับมาฮิตถึงขีดสุดอีกครั้งในตอนนี้ โดยที่เราจะสังเกตเห็นว่าบรรดาร้านคาเฟ่ ร้านอาหาร สตูดิโอ หรือแม้แต่ที่พักอาศัย ก็เริ่มมีเฟอร์นิเจอร์ และการตกแต่ง ที่บ่งบอกถึงความเป็น Mid-Century กลับมาเป็นกระแสกันมากอีกครั้ง ในบทความนี้ฟิวเจอร์เทคฯ จะชวนคุณมาทำความรู้จักกับการออกแบบตกแต่งบ้านสไตล์นี้กันค่ะ

.

Mid-Century Modern เกิดขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ได้รับอิทธิพลจากงานสไตล์ Bauhaus (The bauhaus เบาเฮ้าส์ เป็นชื่อของโรงเรียนแห่งหนึ่งที่เป็นสถาบันศิลปะ และงานฝีมือสไตล์เยอรมัน ที่ก่อตั้งขึ้นหลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 ไปแล้ว 6 เดือน) Bauhaus มีความรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก แม้ว่าจะเป็นเวลาเพียง 14 ปี ที่โรงเรียนเปิดแต่งานดีไซน์ของที่นี่ยังคงส่งอิทธิพลให้กับทั้งโลกหลังมาถึงในปัจจุบัน ซึ่งเราจะพบเห็นกันในงานเฟอร์นิเจอร์  ที่มีลักษณะเรียบง่าย ชัดเจน ตรงไปตรงมา ชิ้นงานจะมีความเรียบง่ายแต่โดดเด่น ด้วยการลดทอนองค์ประกอบลงไป วัตถุส่วนใหญ่จะเป็นเส้นตรง เส้นโค้ง หรือรูปทรงเรขาคณิตที่เข้าถึงได้ง่าย และใช้สีโทนพาสเทล และสีเอิร์ทโทน

ด้วยสไตล์นี้เกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่โลกอยู่ในภาวะขาดแคลนวัตถุดิบ ในงานอุตสาหกรรม จึงจำเป็นต้องคิดหาวัตถุดิบใหม่ ดังนั้นแล้วการออกแบบใหม่จึงได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของงานดีไซน์สไตล์ Mid-century Modern โดยในยุคนั้นการออกแบบหลักๆ มาจากสหรัฐอเมริกา และแถบสแกนดิเนเวีย ส่งผลให้งานดีไซน์สมัยนั้นมีรายละเอียด และมีรูปทรงที่เรียบง่าย ขณะเดียวกันก็เติมความธรรมชาติเข้าไปมากขึ้น และโดยเฉพาะ เมื่อดีไซเนอร์ในสมัยนั้นได้รับอิทธิพลจากสไตล์ “Bauhaus” ทำให้ Mid-century Modern จึงกลายเป็นงานดีไซน์ที่ถูกผสมผสานกันอย่างลงตัวกับธรรมชาติ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีความเป็น Bauhaus ด้วยรูปทรงเรขาคณิต สไตล์โมเดิร์นที่มีความเรียบง่าย ตรงไปตรงมา

.

แนวทางการตกแต่งสไตล์ Mid-century Modern

  • เฟอร์นิเจอร์คือพระเอก

เลือกเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวแนวร่วมสมัยเด่นๆสัก 1 ชิ้น สำคัญคือต้องเป็นแบบที่ดูเรียบง่าย ใช้งานได้จริง เน้นรูปทรงที่ดูเรียบง่าย จำพวกรูปทรงเรขาคณิต ที่หากมีส่วนโค้งมนในการออกแบบก็จะเป็นแบบที่ไม่ซับซ้อน ตัววัสดุทำจากไม้เป็นหลัก ซึ่งโดยมากนิยมใช้ไม้ประเภทไม้สัก (Teak) ที่มีความแข็งแรงทนทาน นอกจากนี้ยังมีไม้โรสวู๊ด (Rosewood) และไม้โอ๊ค (Oak Wood) ที่ได้รับความนิยมในการนำมาทำเฟอร์นิเจอร์อย่างเช่น โต๊ะกินข้าว โต๊ะทำงาน ชั้นวางของ ตู้เก็บของ ในโซนนั่งเล่นคุณอาจจะหา Armchair หุ้มผ้าขาไม้ หรือโซฟาที่ดูนุ่มสบายซักตัว เพื่อเป็นจุดเด่นของห้อง ทำการจัดวางไว้ให้อยู่ในมุมที่มองแล้วจะรู้สึกสบายตา มุมที่สะดวกสบาย

  • จัดสรรพื้นที่ให้โล่งโปร่ง

งานตกแต่งผนัง ใช้เส้นสายไม่เยอะดูสะอาดตา ใช้วัสดุจากธรรมชาติ เช่นไม้หรือหิน อาจเลือกผนังสีขาวเพื่อให้ห้องสว่าง รู้สึกปลอดโปร่ง และทำให้เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ โดดเด่นขึ้นมา สิ่งสำคัญหนึ่งของสไตล์ Mid-century Modern คือต้องออกแบบตกแต่งให้เปิดพื้นที่เพื่อได้รับแสงธรรมชาติมากๆ

  • สีเด่นไม่ต้องคุมโทน

ใครที่เบื่อกับการแต่งบ้านแบบคุมโทนต้องว๊าวกับสไตล์นี้ ที่ผ่านมาเราอาจคุ้นเคยการคุมโทนไม้บีชสีอ่อนคู่กับสีขาว เป็นแพตเทิร์นหลักในการแต่งบ้านเพราะต้องการให้ดูอบอุ่นสบายตา จนรู้สึกว่าจะซื้อของชิ้นต่อไปก็ต้องระวังไม่ให้มีสีสันโดดมารบกวนสายตาได้ แต่ข่าวดีก็คือ Mid-Century Style สามารถมีตัวเฟอร์นิเจอร์บางส่วนที่มีสีสันนอกกรอบของคำว่าคุมโทนได้ นักออกแบบ Mid-Century เอง มักจะหยิบเอาเฟอร์นิเจอร์สักชิ้นขึ้นมาเป็นสีโดดเด่น ท่ามกลางความปะปนของพื้นผิวนั้น อย่างเช่น โซฟาสีเหลือง เก้าอี้เดี่ยวสีเขียวเข้ม สิ่งเหล่านี้ก็ช่วยขับให้ความโดดเด่นมาอยู่ที่ตัวมันเพียงอย่างเดียว จนเราไม่รู้สึกว่าสิ่งอื่นมันโดดจากกันเท่าไหร่นัก การใช้ของตกแต่งจำพวกหนังสีเข้ม หรือของที่มีความแวววับของโลหะก็สามารถนำมาดีไซน์ร่วมลงไปได้

ทีนี้.. เทคนิคในการที่เราจะเลือกว่าใช้สีอะไรเสริมเพิ่มลงไปแล้วยังทำให้การออกแบบออกมาดูสวยมีหลักพิจารณาง่ายๆ คือ เราแค่ทำการประคองภาพรวมของสีที่จะใช้ให้มันอยู่ในโทนร้อนเย็นเดียวกันเท่านั้นเอง

  • กระจกบานใหญ่

การต้อนรับแสงจากธรรมชาติด้วยหน้าต่างกระจกบานใหญ่เต็มพื้นที่ ถือว่าเป็นอีกจุดเด่นของ Mid-Century การใช้กระจกบานใหญ่นั้นมันมีที่มาจากเทรนด์การออกแบบของโรงเรียน Bauhaus ตัวอาคารของที่นั่นได้เลือกใช้หน้าต่างเป็นกระจกแบบบานใหญ่เต็มพื้นที่ (ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่ในสมัยนั้นเอามากๆ) แต่ท้ายที่สุดหน้าต่างกระจกบานใหญ่ ก็ได้กลายมาเป็นหนึ่งในการออกแบบที่ไร้กาลเวลาอย่างที่เราเห็น เช่น การออกแบบที่มีหน้าต่างบานใหญ่ๆ ประตูบานเลื่อน และชานระเบียง เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับธรรมชาติรอบๆ บ้าน เป็นการเชื่อมโยงระหว่าง indoor และ outdoor มาใช้ในการออกแบบ

  • ผสมผสานวัสดุหลากหลายไว้ด้วยกัน

Mid-Century ที่เน้นการหยิบจับวัสดุแปลกใหม่ นอกเหนือจากพื้นผิวธรรมชาติอย่างไม้ ปูน หิน ไปสู่สิ่งที่สังเคราะห์ขึ้นอย่าง กระจก พลาสติก โลหะ อาจด้วยไอเดียของ Mid-Century เกิดในช่วงหลังสงคราม ที่หลายประเทศต่างสูญเสียทรัพยากรของตัวเองไปจำนวนมาก เลยต้องเสาะหาวัสดุใหม่ๆ มาใช้แทน ดังนั้นแล้ว ‘ไม้’ จึงไม่ใช่วัสดุเดียวที่เราสามารถนำมาใช้ในการแต่งบ้าน ยังมีเหล็ก กระจก ไวนิล พลาสติก หรือวัสดุใดๆ ก็ตามที่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าไหร่นัก หรือไม่นิยมมาจับคู่กัน ที่เราสามารถใช้สร้างลุคที่เป็นเอกลักษณ์ได้ สิ่งที่สำคัญในการเลือกใช้มาผสมผสานคือ ให้เฟอร์นิเจอร์เหล่านี้มีลายเส้นต่อเนื่องกัน มีส่วนโค้งมนรับกัน ก็จะทำให้ภาพรวมการตกแต่งดูน่าสนใจทีเดียว

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ เราจะเห็นว่าภาพรวมของการออกแบบสไตล์นี้มีความชัดเจน มีเอกลักษณ์ที่เรียบง่ายที่ดูทันสมัย และแฝงความอบอุ่นที่สร้างความแปลกใหม่ได้อย่างน่าสนใจทีเดียว ถือว่าเป็นการออกแบบที่มีเสน่ห์ที่ทำให้เราสามารถรับรู้ความรู้สึกคุ้นเคยในอดีต และยังเชื่อมต่อมุมมองความทันสมัยใหม่ๆ ในการใช้ชีวิตได้อย่างลงตัว และนี่คือความน่าสนใจของ Mid-Century Style ค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *