3 แนวทาง การจัดตู้เสื้อผ้า การทำราวแขวนผ้า ในห้องพื้นที่จำกัด

                ไอเดีย ประหยัดพื้นที่ (Space Saving) เป็น Concept ที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายมาก เนื่องจากที่อยู่อาศัยสมัยนี้มักมีพื้นที่จำกัด ในวงการนักออกแบบ ดีไซน์เนอร์ จึงมีการสร้างสรรค์ผลงานพวกอุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ใช้สอยภายในบ้าน ออกมามากมายเพื่อตอบสนองความต้องการ และเพื่อแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภค ซึ่งนอกจากอุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์เหล่านั้นจะมีดีไซน์ที่สวยงามแล้ว ส่วนใหญ่ยังสามารถตอบโจทย์รูปแบบการใช้งานที่เหมาะกับพฤติกรรมผู้ใช้ ตอบโจทย์ปัญหาพื้นที่จำกัด รวมถึงยังมีอุปกรณ์ตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ที่ออกแบบให้มีฟังก์ชันการทำงานที่หลากหลาย (Multifunction) โดนใจคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเพิ่มพื้นที่การใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ

                ในบทความนี้ เราจะมาแชร์วิธีการจัดตู้เสื้อผ้า สำหรับห้องมีพื้นที่จำกัด โดยเราจะเริ่มจาก วิธีการเลือกตู้เสื้อผ้าทำให้บรรยากาศโดยรวมดูโปร่งโล่งขึ้น วิธีการวางตู้ตำแหน่งตู้เสื้อผ้าที่จะทำให้ภาพรวมของห้องออกมาดูดี สบายตา รวมถึงการใช้วัสดุอุปกรณ์ Space Saving เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยในตู้เสื้อผ้าได้อย่างคุ้มค่าในราคาไม่แพง และวิธีการจัดตู้เสื้อผ้าให้ออกมาดูดี เป็นระเบียบเรียบร้อย ตอบโจทย์ห้องมีพื้นที่จำกัดกันค่ะ

.

แนวทางที่ 1. เริ่มจากวิธีเลือกตู้เสื้อผ้า

                เป็นความจริงที่ว่า ลักษณะประตูตู้เสื้อผ้ามีผลต่อการใช้พื้นที่ลดลงได้ โดยเฉพาะตู้เสื้อผ้าแบบประตูบานเลื่อน หรือตู้เสื้อผ้าแบบราวแขวนตู้เสื้อผ้าลักษณะนี้จะไม่กินพื้นที่ด้านหน้า เพราะไม่ต้องเผื่อพื้นที่สำหรับเปิดหน้าบาน ทำให้เลือกตำแหน่งที่ตั้งในห้องพื้นที่มีพื้นแคบได้หลายมุม อีกทั้งยังเปิดพื้นที่จัดตู้เสื้อผ้าได้ง่ายกว่าด้วย ทั้งนี้ยังมีหลายแนวทางที่เราสามารถเลือกใช้เพื่อจัดตู้เสื้อผ้าภายใต้พื้นที่จำกัดได้อีกหลายมุมมอง จะเป็นอย่างไรไปดูกันค่ะ

  •  ขนาดของตู้เสื้อผ้าที่เหมาะสมกับห้อง

                ขนาดของเฟอร์นิเจอร์ที่เลือกใช้ตกแต่งห้อง ส่งผลต่อการทำให้ห้องดูแคบลง หรือกว้างขึ้นได้มากกว่าที่เราคิด ในแต่ละห้องนั้นมักจะมีเฟอร์นิเจอร์หลักที่เป็นชิ้นใหญ่อยู่ 1-2 ชิ้น และหากเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มีขนาดใหญ่เกินไป ก็จะทำให้ห้องของเราดูแคบลงจนน่าอึดอัด ข้อควรจำของการเลือกตู้เสื้อผ้าให้มีขนาดพอดีกับห้องขนาดเล็กที่มีพื้นที่จำกัด คือควรเลือกตู้ที่เน้นความสูงเพื่อลดการใช้พื้นที่ด้านข้าง และเลือกตู้เสื้อผ้าที่ไม่กว้างจนเกินไป กรณีที่มีตู้เสื้อผ้าเดิมอยู่ และพบว่ามันมีขนาดใหญ่เกินไปก็แนะนำให้แก้ไขด้วยการลองปรับเปลี่ยนหน้าบานให้เป็นหน้าบานเฟรมอลูมิเนียมประกอบกระจกเงา โดยจะเปลี่ยนทุกบาน หรือเปลี่ยนบางบาน ก็ต้องพิจารณาความเหมาะสม ทางเลือกในการเปลี่ยนหน้าบานตู้เสื้อผ้าเดิมเป็นหน้าบานกระจกเงาเป็นวิธีที่ชาญฉลาดที่ช่วยแก้ปัญหาห้องแคบได้เป็นอย่างดี เพราะกระจกจะทำการสะท้อนภาพ และช่วยกระทบแสงสว่างในห้อง ทำให้บรรยากาศห้องมีมิติ และดูกว้างขึ้นได้มาก นอกจากนี้การใช้หน้าบานตู้เสื้อผ้าเป็นบานกระจก ยังมีข้อดีอีกข้อที่ถูกใจสาวๆ คือ ทำให้เรามีมุมแต่งตัวที่สามารถส่องกระจกตั้งแต่หัวจรดเท้าเพิ่มขึ้นอีกมุมนึงด้วยค่ะ

.

  • สีของตู้เสื้อผ้า

                ตู้เสื้อผ้าเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ที่เป็นปัจจัยทำให้ห้องดูทึบแน่น การเลือกใช้ตู้เสื้อผ้าที่เป็นโทนสีอ่อน หรือโทนสีพาสเทล เช่น สีขาว สีครีม หรือสีไม้ธรรมชาติ จะช่วยทำให้บรรยากาศในห้องที่แคบดูสบายตาขึ้นได้ โทนสีอ่อนยังมีคุณสมบัติสะท้อนแสงสว่างได้ดี จึงช่วยทำให้ห้องดูขยายกว้างมากขึ้น หากตู้เสื้อผ้าเดิมที่มีอยู่เป็นสีเข้ม ก็ไม่ต้องกังวลไป แนะนำให้หาสติ๊กเกอร์ตกแต่งเฟอร์นิเจอร์สีอ่อนๆ มาปิดทับ หรือใช้วิธีทาสีใหม่ ก็เป็นวิธีการแก้ไขที่สามารถทำเองได้ง่ายๆ แถมใช้งบประมาณไม่มากด้วยนะคะ

.

  • ตู้เสื้อผ้าแบบราวแขวน

                สำหรับห้องพื้นที่จำกัด การทำตู้เสื้อผ้าด้วยตัวเองเป็นตู้เสื้อผ้า DIY แบบราวแขวน ก็เป็นไอเดียที่ดีที่หลายคนนิยมทำกัน ข้อดีของการใช้ตู้เสื้อผ้าแบบราวแขวน จะช่วยให้ห้องดูไม่อึดอัด ช่วยลดพื้นที่จัดวางตู้เสื้อผ้า ประหยัดงบประมาณ และยังสามารถจัดเก็บเสื้อผ้าได้ง่ายเนื่องจากเราออกแบบการใช้พื้นที่ได้อย่างเป็นอิสระ

ตู้เสื้อผ้าแบบราวแขวน

.

                ตู้เสื้อผ้า DIY แบบราวแขวนที่นิยมทำในปัจจุบัน จะมีลักษณะเป็นโซน ราวแขวนเสื้อผ้า ที่เปิดโล่งไม่มีหน้าบาน หรือมากสุดจะดีไซน์ให้เหมือนมีผ้าม่านปิดพลางเสื้อผ้าที่แขวนอยู่บนราว นึกถึงสไตล์การตกแต่งบ้านของญี่ปุ่นที่เรียบง่ายแบบสไตล์มินิมอล ที่ทำโครงตู้จากวัสดุประเภทแผ่นไม้ใช้โทนสีที่สบายตาไม่ต้องปรุงแต่งมาทำตู้เสื้อผ้า (บางคนอาจจะเลือกทาสีทับลงบนแผ่นไม้) การทำโครงตู้จะไม่นิยมทำบานประตู และไม่มีชั้นวางมากมาย  เพราะมี Concept เน้นความเรียบง่าย และเน้นอิสระในการใช้พื้นที่ ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้สามารถปรับเปลี่ยนเคลื่อนย้ายตำแหน่งการจัดตู้เสื้อผ้า ตำแหน่งการจัดวางสิ่งของต่างๆ ได้ตลอดเวลาหลักๆ จะเริ่มจากวัดพื้นที่ ที่จะใช้เป็นโซนเก็บเสื้อผ้า และนำไม้แผ่นที่มีความสูง และกว้างตามขนาด ทำการตีกล่องทำโครงเป็นโครงตู้ขึ้นมาให้แข็งแรง หลังจากนั้นก็ทำราวแขวนผ้า ด้วยการใช้อุปกรณ์ราวแขวนเสื้อผ้า และอุปกรณ์หูรับราว มาติดตั้งขนาบกับโครงตู้ซ้ายขวา ในระยะความสูง และจำนวนชั้นของราวที่ต้องการ ทั้งนี้เราอาจจะหาอุปกรณ์ เช่น กล่องเก็บ ตะกร้า ตะแกรง ชั้นวางของ ฯลฯ มาเพื่อช่วยจัดระเบียบเสื้อผ้า หรือของใช้ให้เป็นที่เป็นทางโดยอาจวางไว้ตำแหน่งใต้ราวแขวนผ้าได้

                กรณีห้องมีพื้นที่เล็กมากๆ และมีเสื้อผ้าจำนวนมากที่ต้องการจัดเก็บ บางทีเราอาจไม่จำเป็นต้องใช้แผ่นไม้ตีกล่องทำโครงตู้ ก็สามารถทำโซนจุดแขวนเสื้อผ้าขึ้นมาได้ โดยแค่ทำการติดตั้ง ราวแขวนผ้าด้วยการยึด หูรับราวแขวน ให้สุดฝั่งผนังกำแพงทั้ง 2 ด้านไว้  เพียงเท่านี้ เราก็จะได้มีมุมจัดเก็บเสื้อผ้าที่เป็นสัดส่วนในพื้นที่จำกัดได้ โซนแขวนเสื้อผ้าลักษณะนี้  เราสามารถเนรมิตให้เกิดเป็นมุมที่สวยงามได้มากกว่าที่คิด  โดยหากเราทำการจัดเรียงแขวนเสื้อผ้าแบบแยกให้กลุ่มสีเดียวกันอยู่ด้วยกัน และแขวนแบบเรียงไล่เฉดสี รวมถึงแบ่งโซนไล่ระดับความยาวของเสื้อผ้าให้เป็นระดับไป แถมด้วยการติดตั้งแสงสว่างส่องไปที่ราวแขวนผ้า นั่นคือการจำลองบรรยากาศคอสตูมเสื้อผ้า บรรยากาศร้านขายเสื้อผ้าสวยๆ มาอยู่ในห้องได้อย่างง่ายดาย ที่สำคัญค่าใช้จ่ายไม่สูงด้วยค่ะ

.

ชุดราวแขวนพร้อมหูรับราว By Futuretech

.

แนวทางที่ 2. ตำแหน่งการวางตู้เสื้อผ้า หรือราวแขวนผ้า

                ศัตรูตัวร้ายของการแบ่งพื้นที่ คือ ตู้เสื้อผ้า ด้วยขนาดที่ใหญ่ทำให้ตู้เสื้อผ้าใช้พื้นที่มากกว่าเฟอร์นิเจอร์ประเภทอื่น ดังนั้นเราจึงต้องจัดวางตำแหน่งตู้เสื้อผ้าที่จะทำให้การภาพรวมของห้องที่มีพื้นที่จำกัดออกมาดูดี สบายตามากสุดเท่าที่ทำได้ มาดูแนวทางเลือกตำแหน่งการวางตู้เสื้อผ้ากันค่ะ

  • ตำแหน่งริมห้องน้ำ
    หากพื้นที่ภายในห้องมีห้องน้ำ การเลือกวางตู้เสื้อผ้าไว้ตำแหน่งริมห้องน้ำ อาจต้องระวังเรื่องความชื้น โดยเฉพาะตู้เสื้อผ้าที่ใช้วัสดุเป็นไม้ การตั้งตู้บริเวณใกล้ห้องน้ำอาจทำให้ความชื้นสะสม จนเกิดความเสียหายต่อตู้ และเสื้อผ้าข้างในได้ หากเป็นราวแขวนผ้า DIY ก็อาจไม่ต้องกังวลกับปัญหานี้มาก

.

  • ตำแหน่งมุมห้อง
    ข้อดีของตำแหน่งมุมห้อง มุมห้องเป็นส่วนที่มีพื้นที่ใช้งานน้อย การวางเฟอร์นิเจอร์ชนิดอื่นที่ต้องใช้พื้นที่อย่างโต๊ะทำงาน หรือโต๊ะเครื่องแป้ง อาจทำให้ไม่ลงตัวตามสัดส่วน ดังนั้นการจัดตำแหน่งตู้เสื้อผ้าให้อยู่บริเวณมุมห้องจึงเป็นตำแหน่งที่ดี เพราะจะไม่กีดขวางพื้นที่ และทำให้ภาพรวมของห้องที่มีพื้นที่แคบอาจต้องมีเฟอร์นิเจอร์อื่นรวมอยู่ด้วยดูลงตัวเป็นสัดส่วนได้ง่าย แต่ข้อเสียของตำแหน่งมุมห้องอาจเป็นมุมที่อับ เข้าถึงพื้นที่การใช้งานน้อย ดังนั้นตู้เสื้อผ้าที่เหมาะสำหรับบริเวณมุมห้องควรเป็นตู้แบบบานเลื่อน เนื่องจากไม่ต้องใช้พื้นที่ด้านหน้าในการเปิดประตู แต่หากทำโซนจัดเก็บเสื้อผ้าเป็นลักษณะราวแขวนผ้า ก็จะไม่ต้องเจอกับปัญหาเหล่านี้

.

  • ตำแหน่งปลายเตียง
    ข้อดีของตำแหน่งปลายเตียงคือ ประหยัดพื้นที่ห้องพื้นที่แคบแนะนำให้ใช้ตู้เสื้อผ้าที่มีหน้าบานเป็นกระจก และการวางตำแหน่งตู้เสื้อผ้าไว้ปลายเตียง จะทำให้เราสามารถใช้เตียงเป็นจุดนั่งแต่งตัวได้ และยังใช้กระจกของตู้เสื้อผ้าแทนโต๊ะเครื่องแป้งได้อีกด้วย แต่การวางตำแหน่งนี้ก็มีข้อเสีย คือ ในหลักของนักออกแบบมองว่า ตู้เสื้อผ้าที่มีกระจกอยู่ตำแหน่งปลายเตียง อาจทำให้ในตอนกลางคืน หรือเมื่อเราตื่นนอน อาจจะมีภาพสะท้อน หรือแสงที่มากระทบกระจก และทำให้ผู้ใช้อาจเกิดความตกใจได้ง่าย ในหลักฮวงจุ้ยก็เชื่อว่า ไม่ควรนำกระจกมาไว้ปลายเตียง เนื่องจากกระจกจะสะท้อนสิ่งที่ไม่ดีเข้าหาตัวผู้นอนได้  ดังนั้นหากตู้เสื้อผ้ามีกระจก อาจต้องพิจารณาตามเหมาะสมให้ดีหากจะวางตู้เสื้อผ้าที่มีกระจกในตำแหน่งนี้

.

  • ตำแหน่งข้างโต๊ะเครื่องแป้ง
    ข้อดีของตำแหน่งข้างโต๊ะเครื่องแป้ง สะดวกในการแต่งตัว การวางตำแหน่งตู้เสื้อผ้าให้อยู่ชิดติดกับโต๊ะเครื่องแป้ง ช่วยอำนวยความสะดวกในการแต่งตัวให้เร็วมากขึ้น ลดความแออัดในตู้เสื้อผ้า ด้วยการนำเครื่องประดับขนาดเล็ก อย่างตุ้มหู สร้อย ที่ใช้บ่อยมาวาง หรือฝากเก็บไว้ในบริเวณลิ้นชักของโต๊ะเครื่องแป้งได้

.

แนวทางที่ 3. การจัดระเบียบสิ่งของภายในตู้เสื้อผ้า
               ตู้เสื้อผ้าที่มีของมากเกินไป ทำให้ใช้พื้นที่ภายในตู้โดยสิ้นเปลือง ดังนั้นควรจัดสิ่งของภายในตู้เสื้อผ้าใหม่ โดยเริ่มจาก 2 ขั้นตอน ซึ่งเป็น ตัวแปรสำคัญในการจัดตู้เสื้อผ้าให้ออกมาดูดี ตอบโจทย์ห้องพื้นที่จำกัด คือ

                ขั้นตอนที่ 1. การคัดเสื้อผ้าออก
               โดยมากเสื้อผ้าที่ไม่ได้ใส่เกิน 6 เดือน มักจะไม่ถูกนำมาใส่อีก ดังนั้น การคัดแยกออกไปคือวิธีการแรกที่เราควรจัดการ  เพราะปัญหาหลักของตู้เสื้อผ้ารกมักเกิดจากการที่มีเสื้อผ้าที่เรามีเสื้อผ้าที่ไม่ได้ใส่ แต่ด้วยความเสียดายจึงเก็บไว้ ข้อควรระวังอีกเรื่องหนึ่งคือ ถ้าหากคุณมีเสื้อผ้าเก่าที่ปัจจุบันไม่สามารถใส่ได้แล้วเพราะมันคับไป และคิดว่าอยากจะเก็บไว้เพื่อเดี๋ยวจะผอมแล้วกลับมาใส่เสื้อผ้าตัวนี้อีกครั้ง ขอแนะนำว่า คุณควรตัดใจ เพราะเมื่อคุณผอมคุณอาจจะมีแนวโน้มในการซื้อเสื้อผ้าใหม่มาใส่มากกว่านะคะ

.

                ขั้นตอนที่ 2. การจัดเก็บเสื้อผ้า
               คนโดะ มาริเอะ (ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดบ้านชื่อดัง ชาวญี่ปุ่น) แนะนำไว้ว่า เสื้อผ้าส่วนใหญ่ของเราหากเป็นไปได้ควรจะใช้วิธีพับเก็บ เพราะการพับเก็บจะช่วยประหยัดพื้นที่ได้มาก เช่น เสื้อยืดT-shirt  กางเกงยีนส์ เสื้อผ้าไหมพรม ยกเว้นพวกเสื้อผ้าที่น่าจะแฮปปี้กว่าถ้ามันโดนแขวน เช่น เสื้อผ้าที่ยับง่ายแบบเสื้อเชิ้ต กางเกงสแลค เสื้อคลุมแจ๊คเก็ต เสื้อผ้าที่มีชายห้อยยาว หรือมีรายละเอียดตกแต่ง (Details) เยอะ ในส่วนเสื้อผ้าที่ต้องจัดเก็บโดยการแขวน ให้แขวนแยกโซนเรียงลำดับตามความยาวของเสื้อผ้าโดยแบ่งว่านี่โซนเสื้อแขนยาว โซนเดรส โซนกระโปรง ฯลฯ


               หลักการในการแขวนเสื้อผ้า โดยเฉพาะโซนเก็บเสื้อผ้าแบบราวแขวนให้ออกมาสวย ดูดี ใช้งานง่าย ทำได้โดยแขวนแบบไล่ระดับจากซ้ายไปขวา เช่น เสื้อผ้าหนักๆ ไว้ทางด้านซ้าย และแขวนเสื้อผ้าเบาๆ ไว้ทางด้านขวา เสื้อผ้าหนักๆ ก็คือเสื้อผ้าที่มีความยาวมาก สีเข้ม หรือทำจากวัสดุที่มีน้ำหนักมาก เมื่อไล่ระดับจากซ้ายไปขวาความยาวของเสื้อผ้าก็จะค่อยๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ และเราสามารถแบ่งช่องราวแขวนสำหรับเสื้อ และกางเกงแยกโซนกัน โดยจัดเรียงเสื้อที่มีสีเดียวกันไว้ด้วยกัน และแขวนขึ้นราวแบบไล่เฉดสี ในกรณีที่มีราวแขวน 2 ชั้น แนะนำให้ส่วนราวแขวนด้านล่างให้เป็นพื้นที่สำหรับแขวนกางเกง หรือกระโปรงตัวสั้นโดยแยกเป็นกลุ่มสี และไล่เฉดเช่นเดียวกันกับราวด้านบน และสิ่งสุดท้ายกับการจัดตู้เสื้อผ้า คือการจัดหมวดหมู่ ของใช้ชิ้นเล็กๆ ให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม เช่น ของที่ใช้ประจำ อย่างเช่น กางเกงชั้นใน เสื้อชั้นใน ถุงเท้า ฯลฯ ควรเลือกพับเก็บ และอาจจะจัดวางใส่ตะกร้า หรือลิ้นชัก โดยวางให้อยู่ในตำแหน่งที่หยิบใช้งานได้สะดวก.

.

                จะเห็นได้ว่า ถึงห้องของเราจะมีพื้นที่แคบ แต่ถ้าเรารู้จักเลือกใช้ จัดวางตู้เสื้อผ้า และทำการจัดเก็บเสื้อผ้า จัดเก็บตู้เสื้อผ้า รวมถึงข้าวของใช้ต่างๆ ให้ดี นั่นคือทางออกในการช่วยประหยัดพื้นที่ (Space Saving) ลดความรู้สึกอึดอัด และที่สำคัญเมื่อพื้นที่ถูกจัดใหม่บรรยากาศโดยรวมที่สวยงาม มีระเบียบ มันยังส่งผลต่ออารมณ์ และความรู้สึกผู้ใช้ ผู้อยู่อาศัยให้รู้สึกดีได้อย่างไม่น่าเชื่อ รู้อย่างนี้แล้วมาเริ่มลงมือจัดตู้เสื้อผ้า ทำราวแขวนผ้า ในห้องพื้นที่จำกัดด้วยไอเดียที่ไม่จำกัดกันเถอะค่ะ 😊